โรคติดเชื้อต่าง ๆ
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
ไข้หวัด
             โรคไข้หวัดกับเด็กเล็กๆ เป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อย ตัวการสำคัญเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อโรคจะแพร่กระจายในที่ที่มีคนอยู่รวมกันมาก และในสถานที่ ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก สามารถติดต่อกันโดยหายใจเอาเชื้อโรค ซึ่งฟุ้งกระจายอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอหรือจามออกมา
             เด็กจะมีอาการไอ มีน้ำมูกใสๆ  หายใจครืดคราด และอาจมีไข้ร่วมด้วย อาการเหล่านี้จะเป็นมากใน 1-2  วันแรก แล้วค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนใหญ่ถ้าไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาการจะหายใน 1 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ (ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนน้ำมูกจะข้นขึ้น อาจมีสีเขียว เหลือง ในกรณีนี้จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ) กรณีที่เด็กเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการจะรุนแรงกว่ากว่าไข้หวัดทั่วไป คือมีไข้สูง ตัวร้อน มีอาการหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวหรือและมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
 
ปอดบวม
             โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรืออาจเกิดจากการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง ติดต่อกันโดยการหายใจละอองของผู้ที่มีเชื้อโรคหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมที่พบบ่อยในเด็ก คือเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย
             โรคปอดบวมมักเกิดตามหลังโรคไข้หวัด 2-3 วัน โดยจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบมักจะหายใจเร็ว หากมีอาการรุนแรงอาจหอบเหนื่อยถึงขั้นจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ บางรายอาจไม่ชัดเจน อาจไม่ไอ แต่มีอาการซึม ดื่มนม หรือน้ำน้อยลง ในรายที่รุนแรงเด็กจะหายใจเสียงดัง ปาก เล็บมือ-เท้าเขียว และกระสับกระส่าย ถ้าไข้สูงอาจมีอาการชักร่วมด้วย
             หากเกิดลูกมีไข้สูง ควรพาเด็กพบแพทย์ทันที เพราะหากมีการรักษาที่ช้าหรือได้รับยาไม่ถูกต้อง อาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้
 
ปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
             เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่อันตราย มักอาศัยอยู่ในโพรงจมูกหรือคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ โดยการ ไอ จาม สัมผัส โดยเฉพาะ
ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำอาจติดเชื้อโรคได้ง่ายซึ่งการติดเชื้อในเด็กเล็กมีโอกาสเกิดการติดเชื้อชนิดรุนแรงแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดหรือเยื่อหุ้มสมองได้ง่ายกว่ากลุ่มอายุอื่น
             ปัจจุบันพบว่า เชื้อมีอาการดื้อยามากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้ยาขนาดสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่โรคนี้สามารถรักษาได้ผลดีถ้ามาพบแพทย์ทันการณ์
             ข้อมูลจากเอกสารขององค์กรยูนิเซฟ ปี 2549 ระบุว่า โรคปอดบวมเป็นโรคที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตในปีหนึ่งๆ มีจำนวนมากถึง 2,000,000คนต่อปี โดยในจำนวนนี้มีจำนวนมากกว่า 400,000 ราย (1ใน 5) เสียชีวิตจากภาวะปอดบวม จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดนิวโมคอคคคัส
 
หูอักเสบ
             เป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดในขณะที่มีการติดเชื้อของคอ หูจะได้รับผลกระทบเสมอ เพราะเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสอาจผ่านมาทางท่อเชื่อมหูที่ติดต่อกับคอหอยหากไม่ได้รับการรักษาจะกลายเป็นโรคเรื้อรังทำให้หูหนวกได้
             อาการในระยะแรกเด็กจะปวดหู มีไข้ เด็กเล็กๆ ที่ยังพูดไม่ได้จะร้องกวน ต่อมาราว 1-2 วัน แก้วหูอาจทะลุและมีหนองไหลออกมาอาการปวดจะหายไป บางรายที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ การอักเสบอาจลุกลามไปที่สมอง มีอันตรายถึงชีวิตได้
 
การป้องกัน
             - เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
             - หลีกเลี่ยงสถานที่ ที่มีผู้คนแออัด โดยเฉพาะในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัด
             - หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
             - ไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ฯลฯ
             -  ให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้
             - ให้ความอบอุ่น สวมใส่เสื้อผ้า ที่เหมาะกับสภาพอากาศ
             - หากมีไข้สูง ควรไปพบแพทย์
             - รับวัคซีน เพื่อป้องกันโรค
 
             โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้าหายใจเร็วหอบหรือหายใจแรง หายใจมีเสียงดัง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
 
 
โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
อุจจารระร่วง
             การระบาดของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก โดยส่วนใหญ่พบว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะเชื้อไวรัสโรตา ซึ่งติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือการกินอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป นอกจากนี้อาจติดต่อผ่านทางน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วยได้
             กรณีที่อาการไม่รุนแรง เด็กอาจไม่มีอาการเลยหรือมีเพียงถ่ายเหลวเล็กน้อย ในรายที่เป็นมากขึ้นจะมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ท้องอืดและก้นแดง อาเจียน มีไข้ แต่หากถ่ายเหลวมีมูกปนเลือด ควรระวังการติดเชื้อแบคทีเรียในกรณีที่เป็นมากหรือถ่ายมีมูกเลือดปนควรรีบนำเด็กมาพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน เพราะหากเด็กเกิดภาวะอาการขาดน้ำรุนแรง อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
             การดูแลเบื้องต้น ควรให้เด็กกินน้ำเกลือแร่หรือผงเกลือแร่ละลายน้ำ โดยให้ดื่มทีละน้อยๆพร้อมทั้งให้อาหารที่ย่อยง่าย สำหรับเด็กที่กินนมผสม อาจต้องเปลี่ยนนมเป็นนมพิเศษที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส หรืออาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษาในรายที่มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดหรือสงสัยว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
 
ลำไส้อักเสบ
             เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อโรคบิด เชื้อไทฟอยด์ เป็นต้น ทำให้ลำไส้อักเสบเป็นแผล เชื้อที่พบบ่อยมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน และมีอาการปวดท้องมาก โดยมักเป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนมากับอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบที่ลำไส้โดยตรง
             เด็กเล็กที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ จะมีอาการอาเจียน อุจจาระร่วง และอาจมีไข้ร่วมด้วย
 
การป้องกัน
             - เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะสะอาด ปลอดภัย มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค (ถ้าลูกกินนมแม่ ก็อาจพบว่าลูกถ่ายได้หลายครั้ง ถ่ายเป็นสีเหลือง คล้ายยาสีฟัน ซึ่งถือว่าปกติค่ะ)
             - ล้างมือทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
             - เชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในนมหรืออาหาร เติบโตได้เร็วช่วงอากาศร้อนๆ ทำให้ท้องร่วงได้ง่าย จึงควรให้เด็กกินอาหารที่สุก สด และสะอาดเสมอ
 
             ปัจจุบันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรตามีวัคซีนป้องกันได้แล้วแต่สามารถใช้ได้ในเด็กเล็กต่ำกว่า6 เดือนเท่านั้น
 
โรค มือ เท้า ปาก
             เกิดจากการติดเชื้อไวรัส กลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อ coxsackie virus เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ทั้งทางทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ ทำให้ติดต่อกันได้ทางปากโดยตรง ซึ่งอาจติดมากับมือ ของเล่น การไอ จาม หรือใช้สิ่งร่วมกัน
             โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงอาจ
ติดต่อกันได้โดยที่อาการยังไม่แสดงออก พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี (มักเกิดขึ้นในสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนและโรงเรียน)
             อาการเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ มีแผลอักเสบเป็นตุ่มน้ำใส แตกเป็นแผลตื้นที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก พบตุ่มน้ำใสขอบแดงที่มือ เท้า ก้น และรอบอวัยวะเพศร่วมด้วยได้ โดยทั่วไปอาการอาจไม่รุนแรง หายได้เองภายในระยะเวลา 7-10 วัน ในเด็กจำนวนน้อยมากที่อาจมีอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึม หรือชัก และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในกรณีนี้มักเกิดจากเชื้อ เอนเทอโรไวรัส เบอร์ 71
 
การป้องกัน
             - หมั่นดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดทั้งผู้เลี้ยงและเด็ก
             - หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย สำหรับเด็กโตควรสอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่ายทุกครั้ง
             - ไม่ควรใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนม รวมกับผู้อื่น
             - หมั่นทำความสะอาดพื้น หรือของเล่นเด็ก ที่อาจเป็นพาหะปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ
             - หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือที่ที่เด็กอยู่ร่วมกันจำนวนมาก
 
โรคไข้เลือดออก
             มักระบาดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน ตามบ้านเรือนและโรงเรียน มักวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-10 ปี ในปัจจุบันเริ่มมีการรายงานพบในเด็กโตและผู้ใหญ่มากขึ้น โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ โดยมียุงลาย (ตัวเมีย) เป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออก ความรุนแรงของโรคอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
             เชื้อโรคจะอยู่ในร่างกายประมาณ 2-7 วัน (ในช่วงที่มีไข้) หากยุงซึ่งเป็นพาหะกัดคนในช่วงนี้ ก็จะได้รับเชื้อไวรัสได้ อาการมีความรุนแรงได้หลายระดับ ตั้งแต่มีไข้และหายไปเอง จนถึงในรายที่รุนแรงจะมีอาการช็อกได้ อาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะสำหรับโรคนี้ คือ
             - ไข้สูงลอย 2 - 7 วัน
             - มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
             - มีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก
 
             ในระยะแรกที่เด็กมีไข้ อาจรักษาตามอาการโดยให้ยาลดไข้ และเฝ้าสังเกตอาการ หรือไปตรวจตามแพทย์นัดเป็นระยะๆ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง เช่น แสดงอาการช็อก อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนในการรักษาในโรงพยาบาล
 
การป้องกัน
             - หน้าต่าง ประตู และช่องมด้วยมุ้งลวดตรวจตราซ่อมแซมฝาบ้าน ฝ้าเพดาน อย่าให้มีร่อง ช่องโหว่หรือรอยแตก เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามา
             - เวลาเข้า - ออกควรใช้ผ้าปัดประตูมุ้งลวดก่อน เพื่อไล่ยุงลายที่อาจจะเกาะอยู่ตามที่ต่างๆ
             - เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เพราะยุงลายอาจหลบซ่อนตามมุมมืดของห้องและเครื่องเรือนต่างๆ ที่รกๆ
             - กำจัดแหล่งน้ำที่เป็นที่เพาะพันธุ์ยุงในบ้าน
             - ขณะอยู่ในบ้านควรอยู่ในบริเวณที่มีลมพัดผ่านและมีแสงสว่างเพียงพอ
 
             ยุงลายจะชอบกัดตอนกลางวัน และมักเป็นช่วงที่คนหลับ ดังนั้น เวลาหลับควรกางมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด เปิดพัดลมเบาๆ ก็ช่วยไล่ยุงได้ หรือหากมียุงมากจริงๆ ก็ควรเลือกเสื้อผ้าสวมใส่กางเกงขายาว เสื้อมีแขน เพื่อให้เหลือพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัดน้อยที่สุด
 
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
             การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ดูเผินๆ เหมือนไม่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ แต่หากดูแลเรื่องความสะอาดไม่ดีพอ ก็สามารถก่อปัญหาให้เด็กเจ็บป่วย ไม่สบายได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อโรคที่อยู่ที่บริเวณทวารหนัก เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในอุจจาระ มีการเคลื่อนตัวเข้าไปในท่อทางเดินปัสสาวะซึ่งอยู่ใกล้กัน และเข้าไปสู่กระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดการอักเสบตามมา
             โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคผิดปกติทางกรรมพันธุ์เกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น ท่อไตอุดตัน หรือมีการอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทำให้การระบายปัสสาวะไม่ดี มีการคั่งค้างปัสสาวะและเชื้อโรค อาจติดเชื้อโรคนี้ได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วเชื้อจะแพร่กระจายขึ้นสู่อวัยวะส่วนบนโดยที่ส่วนล่างไม่มีอาการแต่อย่างใด จึงต้องคอยสังเกตอาการ
             - ดูสีของปัสสาวะว่ามีสีขุ่นหรือไม่
             - มีกลิ่นฉุนผิดปกติ
             - ปัสสาวะกะปริบกะปรอยหรือไม่
 
             กรณีที่มีไข้หลายวัน แต่ยังหาสาเหตุไม่เจอ ก็ควรพาลูกพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
 
การป้องกัน
             ควรดูแลเรื่องความสะอาด หมั่นผลัดเปลี่ยนผ้าอ้อม เมื่อลูกขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว หรือหากเป็นไปได้ ก็ควรใช้ในช่วงเวลาที่จำเป็น เพื่อเป็นการร่วมด้วยช่วยกัน ห่วงใยโลก ลดขยะให้น้อยลง ทั้งยังลดรายจ่ายค่าผ้าอ้อมของคุณไปด้วย