พัฒนาการด้านอารมณ์
พัฒนาการด้านอารมณ์เด็กขวบปีแรก
 แรกเกิด- 6 เดือน
             ช่วงนี้ลูกยังเล็ก ยังไม่เข้าใจความซับซ้อนเรื่องอารมณ์ เพราะเรื่องหลักๆ คือเรื่องกินกับเรื่องนอน แต่ลูกก็ใช้เสียงใสๆ ร้องบอกความรู้สึก ความต้องการให้พ่อแม่รู้ เช่น เวลาหิว อึดอัดไม่สบายตัว หรือเจ็บไข้ได้ป่วย ดังนั้น อารมณ์ของลูกในช่วงนี้จึงเกี่ยวข้องกับร่างกายเป็นส่วนใหญ่  
6 เดือนแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญ ลูกต้องการความรักและการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ยิ่งตอนดูดนมแม่ในอ้อมกอด ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นแม่บ่อยๆ เท่าไหร่ ก็ยิ่งกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส ทำให้รู้สึกอบอุ่นและอารมณ์ดีมากเท่านั้น เป็นทั้งต้นทุนไอคิวและอีคิว หากพ่อกับแม่ตอบสนองความรู้สึก ความต้องการของลูกช้าเกินไป  ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำให้ลูกขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย และความรู้สึกนี้จะฝังลึกติดตัว อาจทำให้กลายเป็นเด็กไม่มั่นคงทางอารมณ์ ไม่ไว้ใจใคร
 
หลัง 6 เดือนไปแล้ว
             เป็นช่วงที่ลูกจำหน้าพ่อแม่ได้ รู้ว่าใครเป็นใคร การจดจำจะสอดคล้องกับอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด เช่น พอเห็นหน้าพ่อกับแม่ทีไร ลูกก็ดีใจ ส่งยิ้มหวานให้ ยิ่งคนแปลกหน้าที่ไม่คุ้นเคย อยู่ๆ จะมาขออุ้ม พรากไปจากแม่ ลูกอาจรู้สึกกลัว ก็เลยต้องร้องไห้
             กลไกทางสมองน้อยๆ ของลูกจะทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ไว้ กลายเป็นการจดจำ พอลูกเริ่มเข้าใจคำศัพท์  พ่อแม่ก็สอนให้รู้ว่าอารมณ์แต่ละอย่างมีชื่อเรียก แล้วสุดท้ายลูกก็เรียนรู้เรื่องอารมณ์ได้เหมือนผู้ใหญ่ในที่สุด
 
คุยเรื่องอารมณ์ลูก กับจิตแพทย์
นพ. ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร
             จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า “การวางพื้นฐานพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรกมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นรากฐานของการเจริญเติบโตทางอารมณ์และจิตวิญญาณไปตลอดชีวิต เมื่อเด็กมีสุขภาพจิตดี อารมณ์ร่าเริง แจ่มใส ก็ย่อมกินอิ่ม นอนหลับสบาย ฮอร์โมนการเจริญเติบโตหลั่งออกมาในขณะหลับช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้ดี ในทางตรงกันข้าม หากพื้นฐานอารมณ์ มีปัญหา ก็ย่อมมีผลทำให้เด็ก
หงุดหงิดง่าย ปรับอารมณ์ได้ยาก มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ เช่น ร่างกาย ความคิด สมาธิ

             เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ (temperament) ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดไม่เหมือนกัน บางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก หรือบางคนอาจปรับตัวได้ช้ากว่าเด็กอื่น แต่หากพ่อแม่เลี้ยงดู และตอบสนองความต้องการได้อย่างเหมาะสม เด็กก็จะเกิดความไว้วางใจและเชื่อมั่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างบุคลิกภาพที่ดีของเด็ก

             ที่สำคัญ พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องนี้ และต้องไม่ลืมจัดการอารมณ์ของตัวเองด้วย เพราะพ่อแม่ที่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งในการจัดการปัญหาลูก ด้วยวิธีการตำหนิหรือลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม จะไม่ส่งผลดีต่อทั้งตัวเด็กและพ่อแม่ คือปัญหาเดิมก็ยังไม่ได้แก้ไข กลับจะมีปัญหาใหม่ในเรื่องอารมณ์หงุดหงิดใส่กันที่ทำให้เหตุการณ์นั้นยิ่งแย่ลง

             การจัดการอารมณ์ของลูกพ่อแม่ควรพิจารณาตามสถานการณ์นั้นๆ เป็นสำคัญ หากเป็นความต้องการที่เด็กสมควรจะได้รับ เช่นเมื่อลูกหิว ร้อน อึดอัด เป็นความต้องการทางร่างกายของเด็กเล็กที่เราสามารถตอบสนองได้ พ่อแม่ก็ควรทำ แต่หากเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ ไม่ควร พ่อแม่ควรเรียนรู้ที่จะหนักแน่น สอนลูกให้รู้จักชะลอความต้องการของตนเองบ้าง แม้เด็กเล็กอาจรอได้ไม่นานนัก แต่เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็ควรค่อย ๆ สอนให้รู้จักอดทน และเมื่อเด็กสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ดี ก็ควรชมเชยลูก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก”