การนอน
รอบรู้เรื่องนอนของลูกวัยขวบปีแรก
 
             กิจกรรมหลักของเจ้าหนูเบบี๋ ส่วนใหญ่มักจะ กิน นอน เล่น แล้วก็ขับถ่าย  แต่ในช่วงแรกเกิดเป็นช่วงเวลาที่จะหนักไปทางนอน เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ร่างกายได้พักผ่อน และขณะที่หลับฮอร์โมนการเจริญเติบโต (GROWTH HORMONE) ก็หลั่งออกมาได้ดี เมื่อตื่นขึ้นมา สมองของลูกจึงพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
แบบแผนการนอนของเด็กทารก
             แรกเกิด ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก รูปแบบการนอนของเด็กจะไม่เป็นเวลา โดยเฉลี่ยจะนอนวันละ 20 ชั่วโมงต่อวัน เวลาที่เหลือ คือ ช่วงเวลาดูดนม ลูกจะหลับได้ไม่นานก็ต้องตื่นขึ้นมาดูดนมบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมง เพราะกระเพาะยังเล็กกินน้อย ย่อยเร็ว ยังไม่รู้จักกลางวัน-กลางคืน
             ช่วง 3-6 เดือน ชั่วโมงการนอนเริ่มลดลง เป็น16-18 ชั่วโมงต่อวัน เพราะลูกรู้จักปรับตัว เรียนรู้ที่จะหลับ-ตื่นเป็นเวลา ช่วงเวลากลางวันก็นอนได้ถึง 3 รอบ (สาย บ่าย และหัวค่ำ) นอนตอนกลางคืนได้นานมากขึ้น สามารถนอนหลับติดต่อกันได้นานโดยไม่ตื่นกลางดึก (ขึ้นอยู่กับการฝึกของคุณด้วย)
             ช่วง 6-9 เดือน ช่วงนี้ลูกสามารถนอน
ได้นานจนถึงเช้า นอนกลางวันได้ 2-3 รอบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมในแต่ละวัน จำนวนชั่วโมงการนอนประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน
             ช่วง 9-12 เดือน พอลูกโตขึ้น ชั่วโมงการนอนก็ลดลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน นอนกลางคืนได้ยาว นอนกลางวันเพียง 2 รอบ รูปแบบการนอนคล้ายกับผู้ใหญ่ ยิ่งหลัง1 ปีไปแล้วรูปแบบการนอน ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่เลยทีเดียว เรียนรู้เข้าใจเวลากลางวัน กลางคืนแล้ว
 
             แบบแผนการนอนที่กล่าวมา เพื่อให้คุณแม่ได้เข้าใจ นำไปใช้ประโยชน์ ปรับพฤติกรรมการนอนของลูกให้เหมาะสม แต่ต้องไม่ลืมว่า เด็กแต่ละคนอาจมีจำนวนชั่วโมงการนอนที่แตกต่างกัน ไม่จำเป็นว่าลูกต้องนอนได้ตามนี้ ขอให้สังเกตว่า ถ้าลูกตื่นขึ้นมากิน นอนหลับเป็นเวลา อารมณ์ดีแจ่มใส พัฒนาการของร่างกายและจิตใจเจริญเติบโตเป็นไปอย่างปกติ ก็ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใดค่ะ
 
เตรียมตัวก่อนเข้านอน
             อย่างที่กล่าวมาแล้ว เด็กเล็กช่วงแรกเกิดยังไม่รู้เวลากลางวันกลางคืน ดังนั้น คุณควรจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนได้ก่อน เช่น ตอนกลางวัน ให้ลูกนอนในแสงกลางวัน แสงไฟตามปกติ ส่วนกลางคืน ควรปิดไฟในห้อง อาจเปิดเพียงแสงสลัวๆ  ไม่เปิดไฟจ้า หรือปล่อยให้มีเสียงรบกวนการนอน ลูกก็จะได้เรียนรู้เรื่องกลางวันกลางคืนไปในตัว
 
             กิจกรรมก่อนนอน
             กิจกรรมก่อนพาลูกเข้านอน ควรเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างสม่ำเสมอ เด็กจะรู้สึกมั่นคงและคาดเดากับกิจกรรมนั้นได้จนกว่าจะถึงเวลานอน เช่น อาบน้ำ เล่นกับลูกเบาๆ  กอดสัมผัส อ่านนิทาน และการป้อนนม จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ มีความคุ้นเคยกับกิจกรรม เป็นการเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนเข้านอน
 
             สร้างบรรยากาศในห้องนอน
             สิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในห้อง อาจมีผลทำให้เด็กนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ร้องไห้โยเยเมื่อตื่นขึ้นมา กลายเป็นปัญหาเรื่องการนอนและสุขภาพได้ วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้ลูกนอนหลับสบาย
             - อากาศภายในห้องควรถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อน ไม่หนาวจนเกินไป
             - สวมใส่เสื้อผ้าชนิดที่สวมใส่สบาย ไม่ควรสวมใส่ให้หนาเกินไป ตามสภาพอากาศภายในห้องนอน
             - หากลูกนอนห้องแอร์ ก็ควรอยู่ที่อุณหภูมิ 25 องศา กำลังพอดี
 
             ความปลอดภัยในห้องนอน
             - ช่วง 3 เดือนแรก ที่นอนไม่ควรนุ่มนิ่มหรือแข็งจนเกินไป ตุ๊กตามีขน ผ้าห่มผืนใหญ่ ต้องคอยระวังเรื่องเครื่องนอนมาอุดกั้นการหายใจของลูกทางจมูก
             - ตรวจเช็กจุดเล็กจุดน้อย โดยเฉพาะเตียงนอน ที่ต้องแข็งแรง ปลอดภัย เพื่อให้ลูกน้อยนอนหลับสบายอย่างปลอดภัย
 
             สำหรับเรื่องสถานที่การนอนนั้น คงต้องแล้วแต่ความเหมาะสมของคุณเอง ไม่ว่าจะนอนบนเตียงกับคุณ นอนในเปล หรือให้ลูกนอนในห้องของตัวเอง สิ่งสำคัญที่สุด คือการที่ลูกได้นอนหลับสบายอย่างปลอดภัย ขอแถมอีกสักนิดกับเรื่องนอนๆ ที่ว่า นอนท่าไหนดีนั้น ขอแนะนำให้ลูกนอนหงายจะดีกว่าค่ะ
 
ช่วยลูกนอนหลับฝันดี
             ฝึกให้ลูกหลับด้วยตัวเอง
             - ให้ลูกนอนในที่ของตัวเองทุกวัน ถ้าจะอุ้มลูกก่อนนอนให้วางลูกบนที่นอนขณะที่ลูกง่วงแต่ยังไม่หลับแล้วปล่อยให้หลับเอง
             - ไม่ควรอุ้มกล่อมหรือปล่อยให้ลูกดูดนมจนลูกหลับ ควรพาเข้านอนโดยที่คุณก็ยังอยู่ด้วย
             - กิจกรรมช่วงก่อนนอน ไม่ควรเป็นกิจกรรมตื่นเต้น เคลื่อนไหวมาก เพราะเด็กอาจรู้สึกสนุกสนานจนไม่อยากนอน
 
             ถึงลูกจะตัวเล็ก แต่การเริ่มฝึกให้ลูกเข้านอนได้เองตั้งแต่ยังเด็ก ลูกก็จะไม่คอยร้องเรียกให้คุณต้องกล่อมให้นอน เป็นการสร้างลักษณะนิสัยการนอนที่ดีให้ลูก
 
             ฝึกให้ลูกนอนหลับยาว
             โดยปกติเมื่อเด็กอายุได้ 4 เดือน เด็กจะเริ่มนอนรวดเดียวถึงเช้าโดยไม่ต้องกินนม คุณอาจโชคดีหากลูกนอนหลับตลอดคืน แต่ถ้าลูกต้องตื่นตอนขึ้นมากินนมมื้อดึกหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว อาจต้องกลับมาดูว่า เด็กถูกฝึกมาให้เคยชินกับการกินนมหรือเปล่า ทางที่ดีควรให้ลูกได้นอนหลับยาว ไม่ต้องตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อยๆ เป็นผลดีต่อลูกและคุณเอง
             ควรให้ลูกกินนมก่อนนอนให้อิ่ม ปล่อยให้ลูกหลับได้เต็มที่ เมื่อลูกตื่นขึ้นมากลางดึก ก็อย่ารีบให้ลูกดูดนมทันที ดูก่อนว่าตื่นเพราะอะไร อาจแค่ขยับตัวเล็กน้อยเพราะเมื่อยก็ได้ ลองตบก้นเบาๆ ถ้าลูกหลับต่อก็ไม่ต้องปลุกกินนม แต่ถ้าร้องจะกินก็ให้กินแต่พออิ่ม ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้ลูกหลับคาขวดนม เพราะกลูโคสจากนมจะทำให้ฟันซี่น้อยๆ ของลูกผุได้ง่ายๆ
 
             ช่วงแรกเกิดถึง 5 ปี พ่อแม่ควรได้ใกล้ชิด มีกิจกรรมกับลูก ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่เพียงลำพัง เล่นคนเดียว เรียนรู้เอง พ่อแม่เป็นตัวช่วยสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ คอยจัดระเบียบ วางแผนชีวิตให้ลูก เพราะหากนึกภาพกลับกัน ถ้าลูกต้องอยู่คนเดียว เล่นคนเดียว เด็กก็จะกระตุ้นตัวเองด้วยการดูดนิ้ว ดูดหัวนมหลอก ซึ่งล้วนแต่เป็นพัฒนาการที่ถดทอย