รอบรู้เรื่องยา
รอบรู้เรื่องยาหนูน้อยวัยเบบี๋
             เรื่องยากับวัยเบบี๋  เป็นเรื่องเจ็บปวดใจของคนเป็นพ่อแม่ หากเลี่ยงได้ก็เลี่ยง หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยา เพราะต้องดูแลอย่างระมัดระวัง และปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด  เรามีวิธีการใช้ยาที่ถูกวิธีมาฝากค่ะ
 
ยารักษาแผลในปาก
             เด็กเล็กๆ มักมีฝ้าขาวๆ ที่ลิ้น ที่จริงแล้วมาจากคราบน้ำนมนั่นเอง แต่หากปล่อยไว้นาน ฝ้าขาวจะกลายเป็นเชื้อราได้ แต่แผลในปากสำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องอาหารการกิน เป็นสาเหตุเสียมากกว่า
             ยาที่รักษาอาการ จำพวกยากวาดลิ้น ที่มีใช้ตั้งแต่สมัยปู่ย่า-ตายายแล้วค่ะ  แม้แต่ทุกวันนี้ ก็มีให้เห็น ได้ใช้กันอยู่ แต่การใช้ยากวาดลิ้น (ยาแผนไทย) กับเด็กเล็กๆ ก็มีข้อจำกัดบางประการ
 
             ควรทำ ใส่ใจเรื่องความสะอาดไว้ก่อน เพราะถ้านิ้วมือที่สัมผัสไม่สะอาดพอ แทนที่อาการจะดีขึ้น อาจกลายเป็นปัญหาตามมาให้แก้
             ไม่ควรทำ ใช้ยาบ่อยครั้งจนเกินไป ใช้ในปริมาณที่พอดี และใช้กวาดที่ลิ้นลูกเป็นครั้งคราว ไม่กวาดลึกลงไปถึงคอ เพราะจะทำให้คอเด็กอักเสบ
 
             ทางที่ดี คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำ หลังจากดื่มนมไปสักพัก เพื่อให้น้ำไปล้างคราบนมออก หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำพันนิ้วทำความสะอาดลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ให้ทั่วทั้งปากหลังจากดื่มนม ก็ช่วยลดปัญหาเรื่องฝ้าขาวที่ลิ้นได้ สำหรับ
คุณหมอ (ยาแผนปัจจุบัน) อาจแนะนำให้คุณแม่ใช้ยาเจนเชี่ยนไวโอเล็ต ป้ายลิ้นเด็ก เพราะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราได้ค่ะ
 
ยาแก้ร้อนใน
             อาการร้อนใน กับเด็กเล็กก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน เห็นได้จากอาการแผลในปาก กระพุ้งแก้มมีเม็ด หากเป็นมีมาก ก็เป็นสาเหตุให้ลูกเบื่ออาหาร ไม่อยากกินนม ร้องโยเยขึ้นมาง่ายๆ
             ยาเขียว เป็นยาแก้ร้อนในอย่างดี ที่เราได้ยินได้ใช้กันมาตั้งแต่เด็ก ใช้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จนถึงปัจจุบัน ส่วนมากมักใช้ยาเขียวบรรเทาอาการร้อนใน ถ่ายไม่ออก หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ ถ้าเป็นอีสุกอีใส ก็ให้กินยาเขียว ช่วยขับนี่ล่ะค่ะ แต่ถ้าถามแพทย์ตามหลักการแล้ว ถ้าลูกตัวร้อน มีไข้ ต้องดูอาการอื่นๆ ประกอบ ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น จำนวนวันที่เป็นไข้ ลักษณะไข้ และอาการร่วม ซึ่งแพทย์จะต้องรักษาตามอาการอื่นๆ และหาสาเหตุในเรื่องของเชื้อโรคเป็นหลักค่ะ
 
             ควรทำ
             - ให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ (ลดความร้อนในร่างกาย)
             - ดูแลเรื่องเสื้อผ้า ให้เหมาะสมกับช่วงฤดูกาล เช่น ช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศจะเริ่มเย็น ควรเลือกเสื้อผ้าที่หนาและอบอุ่น ถ้าเป็นช่วงต้นฤดูร้อน ก็เลือกเสื้อผ้าโปร่งสบาย สวมใส่แทน
             - เลือกอาหารอาหารที่มีลักษณะเย็น อย่างพืชผักสีเขียวทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารจำพวกฟัก เพราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมาก ส่วนผลไม้ เช่น มะละกอ ส้ม ก็ช่วยได้ค่ะ
             ไม่ควรทำ สัมผัสกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงทันทีทันใด เช่น อยู่ในห้องแอร์แล้วออกมาสัมผัสอากาศร้อนฉับพลันทันที
 
ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
             เวลาที่ลูกไม่ยอมเรอหรือเรอไม่ออก เป็นเหตุให้มีลมอยู่ในกระเพาะ เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อขึ้นมา ยาที่ใช้ได้ รู้จักมักคุ้นกันในแวดวงพ่อแม่ ก็เห็นจะเป็นทิงเจอร์มหาหิงคุ์ ใช้ทาบางๆ ที่หน้าท้อง ก็สามารถบรรเทาอาการได้ ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุข ขึ้นทะเบียนรับรองเป็นยาสามัญประจำบ้าน (ยาใช้ภายนอก) ค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงมั่นใจ ถึงความปลอดภัยของลูกได้อีกด้วย
 
             ควรทำ เมื่อลูกอิ่มนมแล้ว คุณแม่ควรอุ้มขึ้นพาดบ่า ใช้มือลูบหลังเบาๆ สักพัก เพื่อให้เด็กเรอออกมา
 
ยาแก้ท้องผูก
             ต้องบอกคุณพ่อคุณแม่ก่อนว่า ข้อนี้สำคัญมากๆ ค่ะ เพราะอาการท้องผูก การแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง คือการปรับพฤติกรรมการกินของลูกน้อย ส่วนการใช้ยานั้น ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่วิธีการที่คุณแม่อาจะทำให้ลูกน้อยได้ในเบื้องต้น เช่น สวนทวารด้วยแท่งกลีเซอรีน หรือใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ทารอบรูทวาร ถ้าเป็นสมัยโบราณหน่อย ก็กินน้ำมันละหุ่ง ไม่ว่าคุณแม่อยากจะเลือกวิธีการใด ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนค่ะ
 
             ควรทำ
             - ให้ลูกกินนมแม่ ช่วยลดปัญหาท้องผูกในเด็กเล็ก
             - ให้ลูกกินผัก ผลไม้ ที่มีกากใยอาหาร ประเภทผักใบเขียว เช่น ผักกาดขาว ใบตำลึง และผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ น้ำส้มคั้น เมื่อถึงวัยเริ่มอาหารเสริม จะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น
 
เกร็ดน่ารู้ เรื่องการซื้อยา (ใช้เอง)
             ปัจจุบัน ยาที่จำหน่ายมีหลายตัวยา และผู้ผลิต ดังนั้น เมื่อเลือกซื้อยา จึงต้องมีข้อสังเกต ดังนี้
             - มีเลขที่ใบอนุญาต (อย.) ถูกต้องหรือไม่ ยาสมุนไพรส่วนใหญ่จัดอยู่ในหมวดยาแผนโบราณ
             - กำกับชื่อยา, รายละเอียดส่วนประกอบ, ปริมาณ, วันผลิตและวันหมดอายุ,วิธีการใช้ยา
             - ลักษณะภายนอก เช่น บรรจุภัณฑ์สะอาด ไม่ฉีกขาด
             - ระบุชื่อผู้ผลิต, ผู้จัดจำหน่าย สถานที่ผลิตยาอย่างชัดเจน