พัฒนาลูกให้พร้อมกับการฝากเลี้ยง

 

             ในสังคมสมัยใหม่ ที่ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้าน สำหรับครอบครัวที่โชคดี เราก็อาจฝากลูกเราไว้กับญาติในครอบครัวซึ่งเราค่อนข้างจะวางใจว่า ลูกน้อยของเราจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราส่วนใหญ่มักจะส่งลูกกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเราที่ต่างจังหวัด พอเรามีเวลาว่าง มีวันหยุดหลายวัน หรือเมื่อเราว่างจากการทำงาน เราถึงจะมีโอกาสไปหาลูกและใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เพราะการที่ไม่ค่อยได้อยู่กับลูกนี้เอง พ่อแม่หลายคู่ ตัดสินใจว่าจะเก็บลูกไว้ใกล้ตัว พอเวลาต้องไปทำงาน ก็จะเอาลูกไปฝากไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ Day Care พอเลิกงานแล้วก็ไปรับลูก และจะได้ใช้เวลาอยู่กับลูกหลังเลิกงาน
             การอยู่กับพ่อแม่ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของลูก ดังนั้นการฝากลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก จึงเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่พอๆ กับลูก ดังนั้นการเตรียมตัวลูกให้พร้อมไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็ก นอกจะช่วยลูกในการปรับตัวเมื่อต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่แล้ว ยังเป็นการรับประกันว่า ลูกเราจะได้รับการดูแลเป็นย่างดีจากการปฏิบัติที่น่ารักของลูกเราเอง
             การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่หรือผู้คนใหม่ๆ ของเด็กแต่ละคนนั้นต่างกัน ขึ้นอยู่กับภาวะจิตใจของเด็กเอง แต่ไม่ว่าเด็กจะปรับตัวได้ช้าหรือเร็ว การนำลูกไปฝากไว้สถานรับเลี้ยงเด็กก็ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้ค่ะ
1. พาลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็ก ค่อยๆ ให้ลูกได้คุ้นเคยกับสถานที่ใหม่ โดยที่มีคุณพ่อหรือคุณแม่อยู่ด้วย พาลูกไปเยี่ยมชมที่นั่นหลายๆ ครั้ง แต่ละ
ครั้งค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
2. ปล่อยให้ลูกได้สำรวจสิ่งแวดล้อม ได้รู้จักกับบุคคลใหม่ๆ พี่เลี้ยง หรือคุณครู ให้ลูกได้สำรวจตามความต้องการของเขา ด้วยวิธีของเขาเอง ซึ่งถ้าลูกแสดงอาการลังเล ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ ที่จะกลัวๆ กับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้คุณพ่อหรือคุณแม่จับมือลูก หรืออยู่ใกล้ๆ ในระยะที่ลูกมองเห็นชวนลูกคุยร่วมกับพี่เลี้ยง เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้พี่เลี้ยงได้คุ้นเคยและผูกมิตรกับลูก
3. พูดคุยกับลูกให้เห็นข้อดีถึงการไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็ก เช่น ลูกจะได้มีของเล่นใหม่ๆ เยอะแยะ หรือลูกจะได้เจอเพื่อนใหม่ๆ เป็นต้น
4. เมื่อใกล้เวลาที่จะต้องเอาลูกไปฝากไว้จริงๆ ให้ใช้วิธี “บอกลาอย่างเรียบง่าย” คือ ให้บอกลูกว่า แม่จะไปเข้าห้องน้ำ หรือดื่มน้ำ แล้วค่อยเดินหายไป ครั้งแรกอาจหายไปแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วกลับมา แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาที่คุณแม่หายตัวไปให้มากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกสามารถรับมือกับความกลัวการพลัดพรากได้
5. เมื่อลูกเริ่มชินกับการหายไปเป็นช่วงๆ ของคุณแม่ คุณแม่สามารถเพิ่มเวลาขึ้นเป็นครึ่งวัน จนสุดท้ายเป็นหนึ่งวัน และทุกครั้งที่คุณแม่กลับไปรับลูก ลูกก็จะเรียนรู้ว่าแม่กลับมารับทุกครั้งตามที่สัญญา ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความไว้วางใจ จำไว้นะคะ ทุกครั้งที่ต้องจากลูกมา ต้องบอกลาเขาพร้อมรอยยิ้ม อย่าหายไปเฉยๆ หรือแอบหลบไปเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกกลัวการพลัดพรากและไม่อยากกลับมาที่นี่อีกเพราะ จะทำให้เขาไม่ได้พบพ่อหรือแม่
6. อย่าโอ๋หรือปลอบโยนลูกจนมากเกินไปก่อนการจะนำลูกไปฝากไว้ หรือหลังจากที่รับลูกกลับมาแล้ว เพราะจะทำให้ลูกยิ่งรู้สึกหวดกลัวกับการพลัดพรากมากขึ้น จนทำให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรม ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้ที่จะปลอบโยนตนเองได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรทำตามกิจวัตร และจำกัดช่วงเวลาการบอกลาให้สั้นและเต็มไปด้วยทัศนคติทางแง่บวก