ส่งความสุขผ่านสมองให้ลูกรัก
ส่งความสุขผ่านสมองให้ลูกรัก
               
สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูก เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ส่งผลโดยตรงต่อการสร้างศักยภาพของสมองของลูกน้อย ในฉบับนี้ จึงว่ากันที่เรื่องความสุข จุดเริ่มต้นสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้จัก เข้าใจให้ได้มากที่สุดค่ะ
 
กระบวนการสร้างความสุข
ในร่างกายจะสร้างเซลล์ประสาทมากมายในสมอง มีการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองต่อกัน การเชื่อมโยงเซลล์ประสาท เกิดได้โดยสารเคมีและกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ที่อยู่ภายในเซลล์ เป็นวงจรที่ใช้ในการเก็บข้อมูลความทรงจำอยู่ตลอดเวลา เมื่อเซลล์ประสาทได้รับข้อมูลบ่อยๆ จะเกิดเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นใยประสาทที่แข็งแรง และเพิ่มจุดรับมากขึ้น ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วและง่ายขึ้น เกิดการหลั่งสารเคมีที่บริเวณสายใยประสาทส่งข้อมูล (Axon) สารต่างๆ จะนำข่าวสารจากเซลล์สมองตัวหนึ่งไปที่เซลล์อีกตัว โดยผ่านจุดเชื่อมไปจับกับใยประสาทตัวรับข้อมูลที่เรียกว่า เดนไดร์ท (Dendrite) ในที่ต่างๆ
สารเคมีที่สำคัญหลายตัว ส่งผลต่อความทรงจำ การเรียนรู้ การเจริญเติบโตของสมอง และเรื่องของความรู้สึกทางบวก (ความสุข) ทำงานโดยการส่งสัญญาณ รับส่งข้อมูลต่อ ฉะนั้น เมื่อเซลล์สมองถูกกระตุ้นผ่านการสัมผัสต่างๆ (หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง) ก็จะเกิดการหลั่งสารเคมีต่างๆ ในสมอง โดยทำหน้าที่ต่างกัน ดังนี้
1. ส่วนกระตุ้น
- Acetylcholine(อะเซติลโครีน) มีบทบาทสำคัญในระบบความทรงจำระยะยาว พบมากขณะที่นอนหลับ ช่วยให้สมองเก็บความรู้ที่ (ดี) ในสมอง เป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความฝัน ถ้าขาดสารตัวนี้จะทำให้สมาธิลดลง (ขี้ลืม นอนไม่ค่อยหลับ)
- Dopamine(โดปามีน) พบมากในสมองส่วนแบซัล แกงเกลีย ทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ความทรงจำระยะยาวตลอดชีวิต ถ้ามีจะน้อยจะส่งผลต่อความจำ ถ้าสูงมากเกินไปจะเกิดโรคจิตประสาทหลอน และลดลงเมื่ออายุมากขึ้น (ผู้ชายจะลดลงมากกว่าผู้หญิง)
- Endorphin (เอนดอร์ฟีน) เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข (อารมณ์ดี) กระตือรือร้น ช่วยให้สมองเจริญเติบโตและเรียนรู้ได้ดี พบมากหลังการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย
- Serotonin(ซีโรโธนีน) ทำหน้าที่ส่งข้อมูล เกือบทุกข่าวสารผ่านที่ต่างๆ ในสมอง ช่วยทำให้สมองสงบ มีส่วนในการเรียนรู้และความทรงจำ
2. ส่วนยับยั้ง
Cortisol(คอร์ติโซล) เป็นสารเคมีที่ยับยั้งการทำงานของเซลล์สมองโดยเฉพาะส่วนพื้นผิวสมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความฉลาด และส่วนฮิปโปแคมปัส ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความจำ
ความสุขส่งผลดีต่อสมองอย่างไร
การศึกษาวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ยืนยันแล้วว่า ถ้าเด็กมีความสุขสนุกสนาน ร่าเริง อารมณ์ดี จะส่งผลดีในหลายๆ ด้าน เช่น เป็นเด็กเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยร้องไห้ ปรับตัวได้ดี และผลของอารมณ์ที่ดีนี้เอง ที่ทำให้สมองเกิดสร้างเครือข่ายเส้นใยประสาท เชื่อมต่อเซลล์สมองที่กระจายตัวอยู่กว่าล้านเซลล์เข้าหากันเป็นอย่างดี เพิ่มกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ทางตรงกันข้าม ถ้ามีสิ่งไม่ดีเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจของเด็ก จนรู้สึกกลัว โกรธ หรือไม่ชอบ สมองส่วน Limbic System จะแปลข้อมูลออกมาเป็นความเครียดหรือไม่มีความสุข
 
สิ่งสำคัญในการสร้างความสุข
การที่สมองเลือกเก็บข้อมูล เรื่องความสุขไว้เป็นความทรงจำนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับอารมณ์ เนื่องจากอารมณ์เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้สมองหลั่งสารเคมีต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะเรื่องราวที่กระทบความรู้สึก สมองจะยิ่งจดจำได้นาน หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ ก็จะจดจำได้ดี
ฉะนั้น ความสุข ที่เกิดจากความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นบวก จะยิ่งทำให้เกิดความทรงจำที่ดี เก็บอยู่ในสมองมากขึ้น โดยเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ผ่านกิจวัตรประจำวันของลูก ต่อไปนี้
- ทุกๆ เสียง ที่นุ่มนวลอ่อนโยน เช่น การพูดคุย การร้องเพลงการเล่านิทาน แม้แต่เรื่องราวสิ่งต่างๆ ใกล้ตัว ที่พ่อแม่สื่อสาร ล้วนช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสการรับรู้ ทำให้เซลล์สมองมีการแตกแขนงมาก ช่วยย้ำวงจรสมองให้มีการจดจำ และเกิดการเรียนรู้
- การสัมผัส โอบกอด ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นผ่านสัมผัส จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ สร้างเครือข่ายใยประสาทการรับรู้ที่ดี
 - ของเล่นที่สร้างความสุข ถูกใจลูกก็คือพ่อแม่ ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเคลื่อนไหว สร้างความรัก ความผูกพันของพ่อแม่ลูกด้วยค่ะ
- อาหารจากนมแม่ เป็นอาหารที่มีประโยชน์ ส่งเสริมความสุข (ขณะที่ดูดนม) หรือแม้แต่อาหารเสริม ที่มีสารอาหารสำคัญต่างๆ ก็เป็นตัวสำคัญต่อการพัฒนาเซลล์สมองให้มีการเจริญเติบโตที่ดี
- สภาวะจิตใจ สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมของผู้เลี้ยง ก็มีส่วนเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก เช่น ถ้าเด็กไม่มีความสุข อยู่ในภาวะเครียด ก็เป็นเหตุให้เซลล์สมองถูกทำลายได้