ทำความสะอาดส่วนต่าง ๆ
ลูกน้อยสะอาดได้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
             เรื่องความสะอาด ของเด็กอ่อน เป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอวัยวะส่วนต่างๆ ของลูกยังบอบบางต่างจากผู้ใหญ่ โดยเฉพาะของคุณแม่มือใหม่ ที่ยังรู้จักลูกไม่ดีพอ ขาดประสบการณ์ในเรื่องนี้ มักรู้สึกเป็นกังวล
             ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการการดูแล ทำความสะอาดลูกน้อยอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไปนี้ จะช่วยลดความกังวลใจ ให้กับคุณแม่ ก่อนลงมือปฏิบัติจริงค่ะ
 
             สระผม
             เด็กบางคนเกิดมามีผมมาก บางคนมีผมน้อย ต้องยกให้กับเรื่องของธรรมชาติที่สร้างมา ยังไม่ต้องกังวล ที่ต้องดูแลคือ วิธีการทำความสะอาดมากกว่า คุณแม่ควรสระผมวันละครั้ง แต่ถ้าอากาศ
หนาวเย็นหรือเป็นหวัด ก็ควรเว้นระยะการสระผม อาจสระเพียงวันเว้นวันก็พอ
 
เรื่องต้องระวัง
             ขณะที่ล้างแชมพูออก คุณแม่ต้องระวังน้ำกระเด็นเข้าตา หรือหากกลัวว่า ลูกจะสะดุ้งตกใจกับการสระผม ใช้น้ำค่อยๆ ลูบศีรษะ พอให้ลูกรู้สึกตัวก่อนค่ะ 
ส่วนไขที่ติดมากับศีรษะ หากยังไม่หลุด ก็ไม่ต้องไม่แกะออก ใช้น้ำมันสำหรับเด็กทาทิ้งไว้ แล้วค่อยๆ ใช้แปรงสำหรับเด็กหรือผ้านุ่มๆ เช็ด หลังสระผม เดี๋ยวก็หลุดไปเอง
 
             ดวงตา
             ในเด็กแรกเกิด ดวงตายังทำงานประสานได้ไม่ดีนัก หากคุณแม่สังเกตว่า ดวงตาของลูกดูไม่สัมพันธ์กัน ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ค่ะ จนกว่าจะ 8-10 สัปดาห์ไปแล้ว การทำงานของดวงตาก็จะดีขึ้น
             การดูแลดวงตาเด็กเล็กนั้น เพียงใช้สำลีก้อนชุบน้ำอุ่น ค่อยๆ เช็ดจากหัวตาไล่ลงไปหางตา ส่วนใบหน้า ถ้าเห็นว่าเลอะหรือมีรอยแดง เป็นผดผื่น อาจเช็ดหน้าด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดเช็ดเบาๆ  ได้ค่ะ
 
เรื่องต้องระวัง
             ลูกอาจมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลาในช่วงแรกเกิด เป็นเพราะกลไกธรรมชาติ ร่างกายสร้างไลโซไซน์ (lysozyme) ขึ้นมา คอยทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ อีกไม่นานก็จะหายไป ไม่ต้องทำอะไรกับดวงตาของลูก แต่หากมีขี้ตามาก ลูกลำบากที่จะลืมตา ก็ควรเช็ดออก อาจนวดบริเวณหัวตา (ต่อมน้ำตา) เบาๆ เพื่อให้ท่อน้ำตาเปิด
             ถ้าขี้ตาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือปนเขียว หนังตาบวมขึ้น ตาขาวเริ่มมีสีแดงจากการอักเสบ แสดงว่าอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที
 
             จมูก
             ในรูจมูกจะมีขนจมูก ทำหน้าที่ขัดขวางสิ่งสกปรก ไม่ให้เข้าไปในระบบหายใจ ทำให้ลูกมักจามได้ คุณแม่อาจรู้สึกว่า ลูกเป็นหวัด (หรือเปล่านะ) ที่จริงแล้ว เป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติ ที่ธรรมชาติจะพยายามเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากจมูก
             กรณีที่ลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก ทำความสะอาดได้โดยใช้สำลีหรือคอตตั้นบัดชุบน้ำต้มสุกเช็ดน้ำมูก แค่เพียงตื้นๆ เท่านั้น
 
เรื่องต้องระวัง
             หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ก็ไม่ควรแกะ แคะ หรือทำอะไรในรูจมูก ของลูก
 
             ช่องปาก
             การทำความสะอาดช่องปาก ควรทำทุกครั้งหลังที่กินนมเสร็จค่ะ โดยใช้ผ้าสะอาดพันปลายนิ้วชุบน้ำอุ่น เช็ดบริเวณสันเหงือกและกระพุ้งแก้ม เมื่อฟันเริ่มมีขึ้น ให้คุณแม่ทำความสะอาดภายในปาก โดยใช้ผ้าสะอาดพันที่มือคุณแม่ แล้วเช็ดที่บริเวณเหงือก ฟัน กระพุงแก้ม และลิ้น
 
เรื่องต้องระวัง
             ระวังเรื่องการดิ้นของลูก เพราะอาจทำให้นิ้วของคุณแม่ที่กำลังล้วงเข้าไปในช่องปาก กระแทกเหงือกหรือฟันลูก
 
             หู
             ควรทำทุกครั้งหลังอาบน้ำโดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นพอหมาดๆ เช็ดเบาๆ บริเวณใบหูด้านนอก และช่วงหลังใบหูจากนั้นซับให้แห้งด้วยผ้านุ่มแค่ด้านนอกก็พอแล้วค่ะ
 
เรื่องต้องระวัง
             ไม่ควรแคะ แกะ หรือเช็ดเข้าไปในรูหู เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้ และไม่จำเป็นต้องแคะขี้หูให้ลูก
 
             เล็บ
             ในเด็กเล็กๆ เล็บมือจะยาวเร็วมาก ต้องหมั่นตรวจดูเล็บทุกสัปดาห์ การดูแลเล็บที่ง่ายที่สุดก็ คือ การตัดเล็บ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยค่อยๆ จับนิ้วมือลูกขึ้นมา สอดปลายกรรไกรไว้ใต้เล็บ และดูให้
แน่ใจว่าไม่สอดลึกเกินไปและควรตัดตามแนวโค้งของช่วงเล็บแต่ละนิ้ว โดยเฉพาะหลังอาบน้ำเสร็จ เล็บลูกจะค่อนข้างนิ่ม ทำให้ตัดได้ง่ายขึ้น
 
เรื่องต้องระวัง
             ควรใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เพราะถูกออกแบบมาให้เหมาะ
 
กับนิ้วเล็กๆ ของลูก ควรตัดเล็บในขณะที่ลูกนอนหลับจะได้จับนิ้วลูกได้ถนัดยิ่งขึ้น
 
             สะดือ
             เป็นส่วนที่ต้องระมัดระวัง ไม่ให้มีการติดต่อรับเชื้อโรคได้ ดังนั้น คุณแม่ควรทำความสะอาดวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็น ใช้คอตตั้นบัตเช็ดสะดือลูก โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างสายสะดือกับบริเวณผิวหนังทารก ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ตามที่โรงพยาบาลจัดให้
 
เรื่องต้องระวัง
-  ห้ามใช้แป้งเด็กโรยสะดือ เพราะภายนอกดูเหมือนสะดือแห้งดี แต่ส่วนรอยต่อระหว่างสะดือกับผิวหนังหน้าท้องอาจจะยังฉะ กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เกิดการติดเชื้อได้
-  โดยทั่วไปสะดือเด็กแรกเกิด มักจะค่อยๆ แห้งไปเอง ภายใน  7-10 วันหลังคลอด หลังจากสะดือหลุดแล้ว หากสะดือมีกลิ่นเหม็น รอบๆ สะดือ มีการบวมแดงหรือแฉะ ควรพาเด็กมาพบคุณหมอ
 
             น้องหนู
             เป็นส่วนที่บอบบาง จุดซ่อนเร้นของลูกน้อย ที่คุณแม่ต้องเอาใจใส่ให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดให้มากค่ะ
 
ลูกสาว
หลังอาบน้ำใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช็ดจากท้องน้อยไล่ลงไปที่อวัยวะเพศจนถึงทวาร และควรเช็ดจากด้าน
หน้าไปด้านหลังเสมอ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคจากทวารหนักจะเข้าสู่ช่องคลอด
 
ลูกชาย
ใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดจากท้องน้อย ไปอวัยวะเพศจนถึงทวารหนัก ไม่ต้องพลิกปลายอวัยวะเพศออกมาทำความสะอาด
 
เรื่องต้องระวัง
             เปลี่ยนผ้าอ้อมและทำความสะอาดทุกครั้งที่ลูกปัสสาวะหรืออุจจาระ เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม (เชื้อโรค) และผดผื่นต่างๆ
 
 
รู้จักอุปกรณ์ ทำความสะอาด
             อ่างอาบน้ำ กะละมัง  : เดี๋ยวนี้มีนำเสนอ ให้คุณแม่เลือกมากมาย แต่สำหรับเด็กแรกเกิด ขนาดอาจไม่ต้องใหญ่มาก จะได้ไม่เวิ้งว้างทำให้คุณแม่รู้สึกกังวล กล้าๆ กลัวกับการอาบน้ำ แต่เมื่อลูกโตขึ้น นั่งได้แล้ว อ่างน้ำทั่วไป ก็ใช้แทนให้ลูกอาบน้ำได้คะ
             สบู่ แชมพู ฟองน้ำ : ของใช้สำหรับอาบน้ำ ควรเลือกชนิดที่ผลิตสำหรับเด็กโดยเฉพาะจะดีกว่าคะ เพราะผิวเด็กเล็กๆ บอบบาง ระคายเคือง สิ่งแปลกปลอมได้ง่าย
ผ้า :  ไม่ว่าผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ผ้าใช้ห่อตัวและเช็ดตัว หรือผ้าอ้อม ของใช้ประเภทผ้า เครื่องใช้เหล่านี้ต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ
             สำลี : ควรมีไว้ 2 แบบ คือแบบก้อนกลมและแบบพันปลายไม้ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น ชนิดก้อนกลมๆ ใช้สำหรับทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือก้นของลูก ส่วนแบบลำลีพันปลาย จะเหมาะกับการทำความสะอาดบริเวณ ส่วนที่เป็นใบหู รูจมูก