สำลักนมในเด็กเล็ก
 
                อาการสำลักนม ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ของเจ้าตัวเลก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวล เพียงแต่ต้องคอยระวัง เราจึงมีวิธีป้องกันการสำลักนมสำหรับลูกน้อยมาฝากค่ะ 
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการสำลักนม
ปัจจัยจากตัวเด็ก
- เด็กแรกเกิดที่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจหรือปอด ทำให้ต้องหายใจเร็วขึ้น จึงมีโอกาสในการสำลักมากกว่าเด็กปกติทั่วไป
- ปัญหาเรื่องพัฒนาการที่ล่าช้า หรือมีประวัติชัก ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการสำลักได้ง่ายขึ้น
ปัจจัยภายนอก
- วิธีการให้นม การให้ลูกดูดนมแม่ โอกาสที่จะเกิดการสำลักมีได้น้อย เพราะน้ำนมแม่จะไหลก็ต่อเมื่อลูกได้ดูดนมแม่ แต่หากให้นมขวด ไม่ว่าลูกจะดูดหรือไม่ดูด นมก็จะไหลออกมา ดังนั้น หากคุณอุ้มให้นมลูกไม่ถูกวิธี เช่น ป้อนนมในขณะที่เด็กนอน ป้อนนมในขณะที่เด็กกำลังร้อง หรือให้ลูกนอนกินนม ก็มีโอกาสทำให้ลูกสำลักได้
- ปริมาณนม เป็นไปได้ที่คุณเกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับเรื่องกินของลูก เช่น ไม่ว่าลูกจะร้องเพราะสาเหตุใด ก็ป้อนนมไว้ก่อน ทำให้ปริมาณนมในกระเพาะมากเกินความต้องการ ทำให้เกิดการสำลักนมออกมา
- การใช้จุกนมผิดขนาด ไม่เหมาะกับช่วงวัย ก็มีส่วนทำให้ปริมาณนมที่ลูกได้รับมากเกิน 
 
สังเกตอาการอย่างไร
- ระหว่างที่เด็กกินนม แรกๆ เด็กจะไอ มีอาการเหมือนกับจะขย้อนนมหรืออาหารออกมา หากสำลักไม่มาก ก็อาจไอเล็กน้อย 2-3 ครั้งแล้วก็หายไป 
- หากสำลักมาก เด็กจะไอแรงถึงขนาดหน้าเขียว หรือมีเสียงหายใจผิดปกติ ดังครืดคราด
- กรณีที่มีอาหารอื่นเข้าไปร่วมด้วย เด็กอาจตัวเขียว มีอาการข้างเคียงตามมา เช่น ไอเรื้อรัง มีเสียงหายใจผิดปกติ ลักษณะแบบนี้ควรรีบพาลูกน้อยพบคุณหมอ
- บางครั้งการสำลักอาจไม่จำเป็นต้องสำลักขณะที่ลูกกินนม เนื่องจากขณะที่เด็กนอนหลับ หูรุดกระเพาะอาหาร จะค่อยๆ ผ่อนคลายตัว ทำให้นมไหลย้อนกลับขึ้นมา
การสำลักของเหลวในเด็กเล็ก อาจไม่ร้ายแรงมากนัก หากให้นมและดูแลลูกอย่างถูกวิธี เพราะหากของเหลวเข้าไปถึงหลอดทางเดินอาหาร กลไกในร่างกายจะสามารถดูดกลืนได้เองตามปกติ แต่หากเป็นการสำลักวัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในปาก เมื่อวัตถุไหลลงไปถึงหลอดลม ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ เด็กจะขาดออกซิเจน จนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต
 
4 ข้อ ป้องกันให้ถูกวิธี
1. ควรให้ลูกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก ที่สำคัญ ควรเริ่มต้นให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม  คือเมื่ออายุ 4 - 6 เดือนไปแล้ว เพราะทักษะการดูดกลืนของลูกทำงานได้ดีมากขึ้นกว่าช่วงแรกเกิด และสามารถชันคอตั้งตรงได้ดี โอกาสที่จะเกิดการสำลักก็มีน้อยลง
2. ของเล่นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย หรือของเล่นที่สามารถแตกหักออกได้ง่าย ไม่ควรนำมาให้ลูกเล่น เช่นกระพรวน กระดิ่ง เหรียญ ลูกปัด
3. เลือกประเภทอาหารที่เหมาะกับวัย เช่น โดยทั่วไปเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ไม่แนะนำให้กินถั่วเม็ดเล็ก ข้าวโพด เม็ดทานตะวัน เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเกิดการสำลักมีได้ง่าย แต่หากจะนำมาปรุงให้กับเด็กเล็กๆ ก็ควรบดหรือตัดให้ขนาดเล็กพอควร
        4. จับลูกเรอทุกครั้งหลังที่กินนมเสร็จ
- เด็กเล็ก (0-2 เดือน) ที่คอยังไม่แข็ง ควรใช้วิธีอุ้มลูกนั่งตัก ใช้มือประครองช่วงขากรรไกรเพื่อประครองศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังขึ้นเบาๆ
- สำหรับเด็กที่คอแข็งดีแล้ว อาจใช้วิธีท่าอุ้มพาดบ่า ใช้มือประครองด้านหลัง ลูบขึ้นเบาๆ  
 
วิธีช่วยเหลือเบื้องต้น
สำลักนม จับเด็กนอนตะแคง ให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นมหรืออาหารที่อาจมีอยู่ในปาก ไหลย้อนกลับไปที่ปอด ที่สำคัญ ไม่ควรจับเด็กอุ้มขึ้นทันทีเมื่อเกิดอาการสำลัก
สำลักสิ่งแปลกปลอม เช่น ถั่ว, เมล็ดผลไม้, ลูกอมเม็ดเล็ก, ของเล่นชิ้นเล็กๆ
- วิธีตบหลัง โดยจับเด็กนอนคว่ำ ให้ศีรษะต่ำลงบนแขน แล้วใช้ฝ่ามือตบกลางหลังบริเวณกระดูก ติดต่อกัน 5 ครั้ง และสังเกตสิ่งแปลกปลอมในปากเด็ก ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอม ให้เอาออก ถ้าไม่เห็นให้ทำขั้นตอนต่อไป
 
- วิธีกระแทกหน้าอก โดยจับเด็กพลิกหงายขึ้นบนตัก ในท่าศีรษะต่ำ ใช้นิ้วมือ 2 นิ้วกระแทกแรงๆ ลงบนกระดูกหน้าอก เหนือลิ้นปี่ 5 ครั้ง แล้วสังเกตสิ่งแปลกปลอมในปากเด็ก ตบหลังและกระแทกหน้าอกครบทั้ง 5 ครั้ง ติดต่อกันจนกว่าจะเห็นสิ่งแปลกปลอม
 
สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ที่สำลักวัตถุของแข็งคือ ไม่ควรรีบใช้มือหยิบจับ หรือดึงของออกมาจากปากเด็ก เพราะนิ้วมืออาจไปกดทับสิ่งของที่อยู่ด้านใน และทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นบวมขึ้นและบางครั้งอาจดันทำให้สิ่งแปลกปลอม
นั้นอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น  การช่วยเหลือในเบื้องต้นจะสามารถทำได้ ก็ต่อเมื่อคุณมั่นใจว่า มองเห็นวัตถุสิ่งแปลกปลอม แล้วเปิดปากเด็กหยิบวัตถุออกมา