เมื่อพ่อแม่ เลือกของเล่นให้ลูก
เมื่อพ่อแม่ เลือกของเล่นให้ลูก
 

พญ. อดิศร์สุดา เฟื่องฟู กุมารแพทย์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกของเล่นให้ลูกวัยเตาะแตะ ว่ามีข้อควรคำนึงดังต่อไปนี้

1. ความปลอดภัย ควรใส่ใจรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ผลิตของเล่น พลาสติกที่อาจแตกหัก สีเคลือบที่อาจเป็นอันตรายเมื่อหลุดลอก แล้วลูกนำเข้าปาก ความแข็งแรง ทนทาน ของเล่นที่สนามเด็กเล่นก็ต้องได้มาตรฐาน มั่นคง และมีคุณภาพดี หลีกเลี่ยงของเล่นขนาดเล็ก ที่สามารถใส่ลงไปในแกนกระดาษชำระได้ เพราะเด็กเล็กมักจะนำของเล่นเข้าปากหรือจมูกอาจติดคอหรือหลอดลม ทำให้เสียชีวิต รวมไปถึงของเล่นขนาดใหญ่บางประเภท เช่น รถของเล่น ซึ่งมีส่วนประกอบชิ้นเล็กๆ ที่อาจหัก หลุดออกมาได้

             ความปลอดภัยในการเล่นนับรวมถึงสถานที่เล่นด้วย ควรจัดสถานที่เล่นของลูกให้เหมาะสม เพราะความอยากรู้อยากเห็น มองทุกอย่างเป็นเรื่องสนุก อาจทำให้เขาเอานิ้วไปแหย่ปลั๊กไฟ หรือหยิบของมีคมมาเล่น จนก่อให้เกิดอันตรายได้

 
2.เหมาะสมกับวัย และพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ง่ายเกินไป เช่น ให้เด็กวัย 3 ขวบ เล่นของเล่นที่เขย่าแล้วมีเสียง ลูกเล่นเพียงไม่กี่ครั้ง ก็จะไม่สนใจ แต่ถ้าเอาไปให้เด็กวัยขวบตอนต้นเล่น เวลาเอื้อมมือไปคว้า เขย่าแล้วมีเสียง เขาก็จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และโปรดปรานของเล่นชิ้นนี้ ของเล่นที่ดีควรโตตามเด็ก หมายถึง เด็กจะสามารถเล่นของเล่นชิ้นนี้ได้ทุกช่วงอายุ โดยพัฒนารูปแบบการเล่นที่ซับซ้อนขึ้นตามวัย และช่วยเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้ดี ของเล่นประเภทนี้ ได้แก่ ลูกบอลสีสันสดใส ลูกวัยขวบนิดๆ อาจเล่นผลัก ไล่เก็บไล่เตะ พอเข้าเรียน ก็นำไปโยนเล่นกับเพื่อนได้ หรือตุ๊กตา ตุ๊กตาหมี ลูกอาจจะกอดเล่นตอนเล็กๆ พอสองสามขวบก็เอามาสมมติเป็นเพื่อนในจินตนาการได้ เล่นบทบาทสมมติกัน
             ของเล่นที่ไม่เหมาะสมกับวัยบางอย่าง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างคาดไม่ถึง เช่น โมบาย ที่เหมาะกับเด็กแรกเกิด เพราะช่วยกระตุ้นเรื่องสายตา ถ้ามีเสียงก็จะกระตุ้นประสาทสัมผัสเรื่องการฟัง แต่การแขวนโมบายมีสายไว้เหนือเตียง เด็กโตที่สามารถเอื้อมมือคว้าได้ แล้วสายโมบายมาพันคอ ลูกอาจจะขาดอากาศหายใจ เป็นอันตรายได้
 
3. ไม่จำกัดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การต่อบล็อกไม้ เป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ เมื่อลูกต่อเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น รูปรถไฟ รูปถ้ำ รูปรถ อย่างที่เขาอยากให้เป็น และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก ของเล่นอีกประเภท คือ การเล่นกับเงา ทำมือเป็นรูปต่างๆ หมา นก กระต่าย หัวใจ ฯลฯ การเล่นเงา สีขาว-ดำ ยิ่งช่วยให้ลูกจินตนาการได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นเวลาเชื่อมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวด้วย
 
สังเกตพัฒนาการของลูกจากการเล่น
             การเล่นเป็นอีกวิธีที่พ่อแม่ใช้สังเกตพัฒนาการของลูกได้อย่างคร่าวๆ  เช่น
             - ช่วงวัย 6 เดือน ถึง ขวบตอนต้น จะชอบสำรวจสิ่งของด้วยปาก หยิบของทุกอย่างเข้าปาก เป็นพัฒนาการปกติ สำหรับคุณแม่ที่มีลูกอายุ 3 ขวบแล้ว ซึ่งวัยนี้ควรจะเล่นด้วยมือสองมือ ใช้ค้นหา หยิบจับสิ่งของดูคร่าวๆ ได้ แต่ยังชอบเอาของเล่นเข้าปากตลอดเวลา เหมือนเด็กเล็ก โดยไม่รู้จักวิธีเล่นแบบอื่นเลย จะต้องเริ่มตระหนักแล้วว่า พัฒนาการของลูกไม่สมวัย
             - ในเด็กปกติ 1 ขวบ จะชอบเล่นของเล่นติดล้อ เดินลากจูง หากพบเด็กวัยนี้ที่ไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย และยังไม่สามารถเล่นของเล่นลากจูงได้ ควรสงสัยไว้ก่อนว่า พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อลูกช้ากว่าปกติหรือไม่
             - เด็ก1 – 2 ขวบ เมื่อเห็นรถคันเล็กๆ จะรู้จักเข็นไปมา ไถเล่น เล่นแบบสมมติง่ายๆ ได้ เจอโทรศัพท์ของเล่น ก็เล่นสมมติคุยฮัลโหลได้ ถ้ามีชุดช้อนส้อม มีตุ๊กตา คุณแม่แกล้งสมมติว่าน้องตุ๊กตาหิว ทำอย่างไรดี เขาก็จะสามารถใช้จินตนาการว่า ตุ๊กตาที่เห็นเป็นคน เล่นบทบาทสมมติได้ แต่ในวัยเตาะแตะที่เป็นออทิสติก จะเล่นสมมติไม่เป็น จินตนาการไม่ได้ เจอรถของเล่นก็จะเล่นแต่ล้อ หมุนล้อ เล่นไม่ตรงตามฟังก์ชั่นของเล่น เล่นตุ๊กตาก็จะเอามือฉีกเล่น กระจุยกระจาย ไม่สามารถจินตนาการว่านี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนของเขาได้
             - วัยเตาะแตะจะชอบเล่นกับคนอื่นได้บ้างแล้ว แม้จะเป็นการเล่นแบบยังไม่มีกฎเกณฑ์กติกาแน่ชัด แต่ต้องเล่นกับคนอื่นได้บ้าง หากลูกไม่ชอบเล่นกับใคร ชอบอยู่กับตัวเองคนเดียว นั่งหลบมุมทั้งวัน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะพามาปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคทางพัฒนาการบางอย่าง เช่น ออทิสติก เพราะออทิสติกมาจากคำว่า Auto แปลว่า ตัวเอง อยู่ในโลกส่วนตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร
             - เด็กบางคน ที่โต 2-3 ขวบแล้ว แต่ยังเล่นรุนแรง ไม่รู้จักระมัดระวัง จนเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล เช่น ชอบปีนที่สูง แล้วกระโดดลงมา ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ แล้วก็ยังเล่นแบบเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นอีกกรณีที่ควรพามาปรึกษาแพทย์ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ อาจมีพัฒนาการช้า หรือมีภาวะซน สมาธิสั้นร่วมด้วย
ลูกสาวลูกชาย เล่นอย่างไรให้ตรงตามเพศ
             วัยเตาะแตะเป็นวัยเลียนแบบ ลูกจะชอบทำตามบุคคลที่เป็นฮีโร่ของเขา ซึ่งได้แก่คุณพ่อคุณแม่นั่นเอง เด็กผู้หญิงชอบเอารองเท้าส้นสูง หรือเสื้อผ้าของคุณแม่ไปใส่ เอาเครื่องสำอางคุณแม่มาแต่งหน้า เป็นการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก บางครั้งจึงอาจพบเด็กผู้ชายเอาเครื่องสำอางคุณแม่มาเล่น สวมรองเท้าคุณแม่ หรือเล่นตุ๊กตาได้บ้าง ซึ่งในกรณีนี้คุณแม่ยังไม่ต้องเป็นกังวลว่าลูกชายจะเบี่ยงเบนทางเพศ เพราะเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้กฎเกณฑ์หรือทัศนคติทางสังคม
             ลูกชายอาจเรียนรู้แค่ว่า เวลาปกติที่เขาเล่นรถ ต่อบล็อก คนรอบข้างไม่สนใจ แต่พอวันหนึ่ง
ที่เขาหยิบลิปสติกคุณแม่มาทา ทุกคนโวยวายเสียงดัง ตกใจ เขาก็รู้สึกว่าได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ และสนุก แม้การตอบรับจากผู้ใหญ่จะเป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีใครมาสนใจเขาเลย จึงอยากจะทำพฤติกรรมอย่างนี้อีก ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งหากทำบ่อยครั้งเข้า อาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมในอนาคตได้
             คุณแม่ไม่ควรสนับสนุนให้ลูกเล่นเบี่ยงเบน แต่ก็ไม่ต้องตกใจมาก อาจหาทางออกด้วยการให้กำลังใจ ชักชวนให้เขามาเล่นอะไรที่สนุก และเหมาะสมกับเพศ หากลูกชายชอบเล่นเอนเอียงไป ก็อาจจะขอแรงคุณพ่อให้มาช่วยดูแลลูกมากขึ้น ชวนลูกไปเล่นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ เล่นกลางแจ้ง โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน ที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมากขึ้น ก็อาจจะต้องขอแรงคุณลุง คุณอา หรือเพื่อนคุณแม่ที่เป็นผู้ชายให้เขาดูเป็นต้นแบบ ส่วนลูกสาวที่ห้าวเกินไป ชอบเล่นผาดโผน เล่นอันตราย คุณแม่อาจชวนมาทำกิจกรรมที่ดูนุ่มนวลลงบ้าง
 
ทีวี ไม่ใช่ของเล่นของลูก
             การดูทีวีมากเกินไปทำให้ลูกเฉื่อยชา เด็กวัยเตาะแตะที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เวลาอยู่หน้าทีวีนานๆ จะเป็นเด็กที่ไม่ชอบเคลื่อนไหวไปไหน ชอบนั่งอยู่กับที่ ในที่สุดร่างกายก็จะอ่อนแอ ปวกเปียก ไม่มีกล้ามเนื้อ และรูปร่างไม่ดีเมื่อเขาโตขึ้นเป็นวัยรุ่น
             วัยเตาะแตะไม่ควรใช้เวลากับทีวีเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง เวลาที่ดูทีวี คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่กับลูก
เสมอ และเป็นรายการที่คัดเลือกแล้ว อย่างที่มีเรตติ้งว่ารายการไหนเด็กดูได้ แต่ไม่ควรให้เด็กดูทีวีมากๆ การลดชั่วโมงดูทีวีของเด็กลง แล้วให้ลูกนั่งเฉยๆ จะเป็นการฝืนธรรมชาติของเด็กที่ไม่อยู่นิ่ง จึงจะต้องหากิจกรรมที่สนุกมาทดแทน เช่น อาจชวนลูกออกไปวิ่งเล่น ว่ายน้ำ ปลูกต้นไม้ หรือพอไปสนามเด็กเล่น ซึ่งเขาก็จะสนุกมากกว่าดูทีวีอีกด้วย
 
เล่นอะไรกับลูก ก่อนนอนได้บ้าง
             ควรงดรูปแบบการเล่นที่กระตุ้นความตื่นเต้นของเด็ก เช่น การเล่นไล่เตะลูกบอล เล่นโยนกันไปมา เล่นซ่อนแอบ หากก่อนนอนลูกเล่นแบบตื่นเต้นมากๆ จะทำให้อารมณ์ตกค้าง ลูกอาจผวาตื่นกลางดึก หรือละเมอร้องไห้ได้ ขอแนะนำ การเล่นเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เล่นเงา หรือเล่นร้องเพลงกล่อมกันเบาๆ สร้างความสงบในบ้าน จะช่วยให้ลูกนอนหลับได้ดี
   
ของเล่น Biotoy ดีที่สุดสำหรับลูก
             ของเล่นประเภท Biotoy จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ดีที่สุด เพราะเป็นของเล่นที่มีชีวิต และของเล่นมีชีวิตที่ดีทีสุดสำหรับลูก คือพ่อกับแม่นั่นเอง เพราะตอบสนองความต้องการของลูกได้ทุกด้าน ส่งเสริมเรื่องการมี
             ปฏิสัมพันธ์ หรือช่วยหล่อหลอม เรื่องสังคม อารมณ์ จิตใจไปด้วย พ่อแม่ควรหาเวลาเล่นกับลูกให้มากขึ้น คอยกระตุ้นความสนใจ สังเกต และตอบสนองความต้องการของเขาอย่างเหมาะสม
             สำหรับเด็กของเล่นอาจไม่จำเป็นต้องมีมากชิ้น แต่สิ่งสำคัญคือที่คนเล่นด้วย ของเล่นที่ราคาไม่แพง เหมาะสมกับวัย และปลอดภัย อาจจะเป็นของเล่นที่ทำขึ้นเองอย่างง่ายๆ แต่มีพ่อแม่เล่นด้วย ก็สามารถทำให้ลูกมีความสุขแล้ว