พัฒนาการในครรภ์

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์

 40 สัปดาห์ทำความรู้จัก ลูกน้อยในครรภ์กันดีกว่า

สัปดาห์ 1     หลังจากปฏิสนธิ อสุจิ และไข่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเซลล์ เรียกว่าไซโกต ((Zygote)ไซโกต จะเริ่มแบ่งตัวอย่างรวดเร็วขณะที่เดินทางไปยังมดลูก

สัปดาห์ 2  ช่วงหลัง 6-7 วันขึ้นไป กลุ่มไซโกตจะเติบโตไปเป็นก้อนกลมกลวง เรียกว่า บลาสโตซีสต์ โดยเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 10 บลาสโตซีสต์จะเริ่มฝังตัวที่โพรงมดลูก

 สัปดาห์ 3  บลาสโตซีสต์มีการแบ่งตัวเป็นทวีคูณแม้จะมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด และเซลล์ภายในบลาสโตซีสต์ จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อน (Embryo)

สัปดาห์ 4  เซลล์ในตัวอ่อนมีการจัดเรียง 3 ชั้น ชั้นนอกพัฒนาเป็นผม ขน ผิวหนัง ต่อมเหงื่อ เต้านม ฟัน หูชั้นใน เลนส์ตา ชั้นกลางพัฒนาเป็นระบบประสาท โครงกระดูก กล้ามเนื้อต่างๆ เม็ดเลือดแดง ม้าม หลอดเลือด ชั้นในพัฒนาเป็นปอด ตับ ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ

สัปดาห์ 5  เริ่มพัฒนาหัวใจ และมีหัวใจสี่ห้อง เริ่มมีการสร้างเพดานปาก ขนาดตัวอ่อนจะเท่ากับผลองุ่น หัวใจเริ่มต้นก่อตัวเป็นรูปร่าง สมองและระบบประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้อ และกระดูกกำลังก่อตัว

สัปดาห์ 6  ตัวอ่อนขนาดเท่าเมล็ดถั่ว หัวใจเริ่มเต้นด้วยอัตราความเร็ว 180 ครั้งต่อนาที เร็วกว่าผู้ใหญ่ถึงสองเท่า เริ่มสร้างเปลือกตา หู มือ เท้า เริ่มเห็นเค้าโครงรอบศีรษะ ส่วนโค้งของไขสันหลัง

สัปดาห์ 7  เริ่มแยกให้เห็นว่ามีสองแขนสองขา พัฒนาระบบประสาทดีขึ้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวแขนขา ถ้าตรวจวัดด้วยเครื่องจะเห็นการเคลื่อนไหวของตัวอ่อน แต่แม่ยังไม่รู้สึก อวัยวะปอด ตับ และไตเริ่มพัฒนา

สัปดาห์ 8  ระยะนี้จะเรียกว่าเป็นทารก ยาวประมาณ 1 นิ้ว สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีหู ปากขยับเปิดปิดได้ และศีรษะยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด

สัปดาห์ 9  ทารกยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง เริ่มขยับงอตัวได้บ้าง ระบบประสาทและกระเพาะอาหารพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสมองพัฒนามากขึ้นกว่าเดิม

สัปดาห์ที่ 10  ระบบประสาทเริ่มสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้ทารกเคลื่อนไหวได้มากขึ้น ถุงน้ำคร่ำและอวัยวะทั้งหมดถูกสร้างเรียบร้อยแล้ว

สัปดาห์ที่ 11 ทารกเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ตับมีพัฒนาการมากขึ้น มีเมตาบอลิซึมของน้ำดีเกิดขึ้นในร่างกาย การสร้างอวัยวะต่างๆบนใบหน้าสมบูรณ์ ศีรษะโตขึ้นได้สัดส่วนกับขนาดของสมอง

สัปดาห์ 12  อวัยวะต่างๆ เติบโตสมบูรณ์ เล็บและผมเริ่มงอก ตุ่มฟันทั้ง 32 ซี่เริ่มสร้างขึ้น ระบบการย่อยอาหารเริ่มทำงาน ทารกเริ่มทำท่าขยับปากดูดได้ในสัปดาห์ต่อไป ปลายสัปดาห์นี้รกพัฒนาจนสมบูรณ์ทำหน้าที่แทนถุงไข่แดงในการนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารก และเป็นที่แลกเปลี่ยนของเสียจากเลือดทารกไปยังแม่

สัปดาห์ที่ 13  ทารกเติบโตรวดเร็ว โดยอาศัยรกที่เติบโตขึ้นเป็นแหล่งอาหารและออกซิเจน รกจะพัฒนาเร็วมาก เพื่อให้ทันกับความต้องการอาหารเพื่อการเติบโต และยังสร้างฮอร์โมนหลายตัวที่จำเป็นต่อการเติบโต

สัปดาห์ที่ 14 ทารกรับรู้เสียง แสง ตอบรับสัมผัสได้ แขนขาสมบูรณ์ เริ่มมีคิ้ว เส้นผม หูใกล้เคียงปกติ คอยังเติบโต ไตเริ่มทำงาน ดูดกลืนน้ำคร่ำ ถ่ายปัสสาวะได้ ช่วงที่ผ่านมาทารกได้รับอาหาร โดยดูดซึมผ่านผิวหนัง ลำไส้เล็กมีการพัฒนามากขึ้น และมีการขนส่งสารอาหารโดยใช้พลังงานของกรดอะมิโน

สัปดาห์ที่ 15 กระดูกยังหยุ่นได้ แต่จะเริ่มพัฒนาเพราะมีแคลเซียมมาสะสมให้เป็นกระดูกที่แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทารกจำเป็นต้องได้รับออกซิเจนผ่านทางรกเพื่อการเติบโต หัวใจแม่จึงต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นทำงานหนักมากขึ้น เพื่อรองรับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น

สัปดาห์ที่ 16  ทารกดูดหัวแม่มือได้ มีใบหน้าใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น ขนอ่อนขึ้นปกคลุมทั่วตัว ร่างกาย จะยังไม่มีไขมัน แต่ไขมันในร่างกายแม่และผิวของแม่ จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในถุงน้ำคร่ำให้ทารกอุ่นสบายได้

สัปดาห์ที่ 17  ทารกเติบโตรวดเร็วมาก มีลำตัวยาวประมาณ 7 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 170 กรัม เริ่มแสดงสีหน้าต่างๆได้ เช่น บึ้งตึง หน้านิ่วคิ้วขมวด หนังตาและคิ้วเริ่มพัฒนาขึ้น

สัปดาห์ที่ 18  ทารกเริ่มหายใจเข้าออก ดูดกลืนน้ำคร่ำผ่านปอด หากทำอัลตร้าซาวนด์ในช่วงนี้ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของลูกได้ชัดเจน ทั้งการเตะ การกำ หรือยึด ลำไส้เล็กมีการพัฒนามากขึ้น ร่างกายยังมีการขนส่งสารอาหารในรูปแบบกลูโคส

สัปดาห์ที่ 19  ฟันของทารกกำลังเติบโตอยู่ในปุ่มเหงือก เซลล์สมองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน่าทึ่ง ด้วยอัตราความเร็ว 50,000-100,000 เซลล์ต่อนาที ไขสันหลังแข็งแกร่งแล้วในระยะนี้

สัปดาห์ที่ 20  การเติบโตเริ่มช้าลง แต่อวัยวะต่างๆพัฒนาให้สมบูรณ์มากขึ้น ผิวอ่อนนุ่ม เพราะต่อมไขมันเริ่มทำงานและสร้างไขเคลือบ กระเพาะอาหารพัฒนามาก มีการเคลื่อนไหวและมีการหลั่งน้ำย่อยเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว ตับอ่อนมีการพัฒนา

สัปดาห์ที่ 21 ปุ่มรับรสเริ่มทำงาน ทารกดูดกลืนน้ำคร่ำได้ในปริมาณมาก ดิ้นได้คล่อง ทั้งยืดตัว พลิกตัวเพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ตาและเปลือกตาพัฒนาสมบูรณ์ หูพัฒนาขึ้นจึงเริ่มได้ยินเสียงนอกครรภ์

 

สัปดาห์ที่ 22  ทารกเติบโตเพิ่มขึ้นจนขนาดใหญ่เท่าผลส้ม อวัยวะหูเสร็จสมบูรณ์ สามารถเรียนรู้ โต้ตอบเสียงที่ได้ยินทั้งเสียงเพลง เสียงพูดคุย หรือเสียงอื่นๆ การให้ฟังดนตรีนี้จะช่วยกระตุ้นเซลล์สมองให้พัฒนารวดเร็ว

สัปดาห์ที่ 23  แขนขาเริ่มพัฒนาดีขึ้น สามารถกำมือได้ มองเห็นรายละเอียดของอวัยวะต่างๆได้ชัดเจน ทั้งรูปร่าง หน้าตา นิ้วมือ แขนขา ถ้ากำเนิดในช่วงสัปดาห์นี้จะมีโอกาสรอดน้อย เพราะปอดยังไม่เติบโตเต็มที่

สัปดาห์ที่ 24  เริ่มเปิดเปลือกตา หูพัฒนา ขนตาและคิ้วขึ้น หัวใจเต้นดังชัด ถุงลมปอดเริ่มพัฒนาสมบูรณ์ เพื่อเตรียมหายใจหลังคลอด ถ้าออกมาช่วงนี้ระบบการหายใจค่อนข้างมีปัญหา แต่อวัยวะส่วนใหญ่สร้างเสร็จแล้ว ผิวหนังโปร่งใส มองเห็นเส้นเลือดฝอยได้ชัดเจน ลำไส้เล็กมีการพัฒนามากขึ้น และร่างกายมีการดูดซึมกรดไขมัน

สัปดาห์ที่ 25  ทารกมีช่วงตื่นและหลับที่เป็นเวลา ถ้าลูกกำเนิดในช่วงนี้อาจมีโอกาสรอดชีวิตบ้าง จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ที่จะควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด

สัปดาห์ที่ 26  เริ่มมีไขมันสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งจะช่วยห่อหุ้มร่างกายให้อบอุ่น ควบคุมอุณหภูมิของทารก ผิวเริ่มเปลี่ยนจากลักษณะโปร่งใสมาใกล้เคียงคนทั่วไป สามารถลืมตาขึ้นแล้ว และกำลังเรียนรู้เรื่องการฝึกดูดกลืนต่อไป เพื่อเตรียมพร้อมที่จะดูดนมจากอกแม่หลังคลอด

สัปดาห์ที่ 27  ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทารกเติบโตขึ้นมาก อีกส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณของน้ำคร่ำที่เพิ่มขึ้น รอยเหี่ยวย่นของผิวจะถูกปกคลุมด้วยไข ซึ่งช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย และช่วยบำรุงเคลือบผิวทารกไม่ให้เหี่ยว เพราะทารกต้องนอนแช่ หรือลอยตัวอยู่ในน้ำคร่ำตลอด

สัปดาห์ที่ 28  ทารกมีความสามารถในการดูด การอม บางครั้งอาจเปิดตาและสามารถจ้องมอง ถ้าคลอดออกมาช่วงนี้จะมีโอกาสเลี้ยงรอด แต่จะต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ลูกอัณฑะของทารกเพศชายเริ่มเข้าสู่ถุงอัณฑะแล้ว มีความสามารถในการได้ยินเพิ่มขึ้นมาก ถ้าแม่ฟังเสียงดนตรีดังๆ อาจพบว่าทารกเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยเคลื่อนไหวแขนขาทันที

สัปดาห์ที่ 29  ทารกเติบโตเพิ่มขึ้น ถ้าเกิดตอนนี้จะมีโอกาสรอด ลำตัวยาวประมาณ 13 นิ้วครึ่ง มีไขมันเคลือบลำตัวมากขึ้น ปอดเริ่มมีเซลล์และน้ำหล่อลื่นที่เคลือบรอบถุงลมเพื่อช่วยในการขยายตัวของถุงลม

สัปดาห์ที่ 30  ทารกสามารถเรียนรู้ทิศทางได้แล้ว เมื่อคุณแม่ลูบครรภ์ไปทางใด ทารกจะตอบรับและเคลื่อนไหวไปตามการสัมผัสของคุณแม่ รอยเหี่ยวย่นตามใบหน้าและลำตัวจะหายไป ผมงอกขึ้นแล้ว เปิดปิดเปลือกตาได้ ทารกจึงฝึกการมองเห็นอยู่เสมอ ศีรษะและลำตัวเริ่มได้สัดส่วนใกล้เคียงเด็กที่คลอดครบกำหนด ไขกระดูกทั่วร่างเริ่มสร้างเม็ดเลือดแดง

สัปดาห์ที่ 31  ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีชมพูเรื่อ ซึ่งจากเดิมเป็นสีแดง เนื่องจากไขมันที่สะสมอยู่ใต้ลำตัวนั่นเอง ไขมันนี้จะกลายเป็นพลังงานและรักษาอุณหภูมิร่างกายของทารกแรกเกิด ถุงลมภายในปอดกำลังพัฒนา เพื่อเตรียมพร้อมหายใจหลังคลอด ทารกจะฝึกใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจเป็นจังหวะ

สัปดาห์ที่ 32  ไขมันสะสมใต้ผิวหนังจะหนามาก ผมงอกปกคลุมศีรษะหนาแน่นขึ้น แต่ละนิ้วมีความสมบูรณ์ แต่ยังไม่มีเล็บนิ้ว ใบหน้าเรียบลื่น มีรอยย่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เริ่มกะพริบตา เพ่งมองจุดที่สนใจได้ ปอดยังคงพัฒนาให้สมบูรณ์เต็มที่ เพื่อการหายใจหลังคลอด ถ้าคลอดในช่วงนี้ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการหายใจ เพราะยังขาดน้ำหล่อลื่นปอด แต่ก็มีโอกาสรอดสูง

สัปดาห์ที่ 33  สัดส่วนของอวัยวะมีความใกล้เคียงกับทารกแรกคลอด อวัยวะต่างๆ สมบูรณ์เกือบหมดแล้ว มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ระบบการทำงานในร่างกายมีความพร้อมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะเริ่มกลับหัวลงสู่ช่องคลอด ทารกจะเคลื่อนตัว เหยียดแขน หรือขาเตะผนังหน้าท้องจนนูน

สัปดาห์ที่ 34  เล็บมืองอกยาวถึงปลายนิ้ว ผมขึ้นดกเต็มศีรษะ มีไขมันสะสมใต้ผิวเพิ่มขึ้น ทำให้ผิวเต่งตึงขึ้น ไขมันจะช่วยให้พลังความอบอุ่นร่างกาย ควบคุมอุณหภูมิทารกช่วงหลังคลอด

สัปดาห์ที่ 35  ทารกเติบโตเต็มที่ อาจเคลื่อนไหวช้าลงหรือดิ้นน้อยลง เพราะขนาดตัวโตคับครรภ์ จึงทำให้มีพื้นที่เคลื่อนไหวน้อยลง ถ้าเกิดช่วงนี้ต้องถูกควบคุมดูแลเข้มงวด แต่ก็ใช้เวลาไม่นานเหมือนช่วงที่ผ่านมา

สัปดาห์ที่ 36  ไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังจะมีมากขึ้น เริ่มมีอุจจาระหรือขี้เทา ตับและ ต่อมหมวกไตจะสร้างฮอร์โมนเร่งความสมบูรณ์ของปอด เพื่อเตรียมการหายใจครั้งแรกหลังคลอด ศีรษะกลับลงมาสู่ช่องเชิงกรานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นตำแหน่งเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

สัปดาห์ที่ 37  ทารกเริ่มฝึกหายใจ ดูดกลืน การเคลื่อนไหวและการรับรู้ของทารกเริ่มทำงานประสานกันได้ดี ลูกเตรียมพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว ขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วร่างกาย

สัปดาห์ที่ 38  ทารกใกล้คลอดแล้ว โดยขนาดตัวโตพอดีกับขนาดของมดลูก ทารกจะอยู่ในท่าคลอด ส่วนหัวจะเป็นส่วนนำที่จะเปิดช่องทางคลอดออกมา น้ำหนักยังคงเพิ่มขึ้น และที่ว่างในมดลูกเหลือน้อยมากลงทุกวัน

สัปดาห์ที่ 39  มดลูกเริ่มหดตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด คุณแม่อาจนอนได้ลำบากขึ้น และอารมณ์สับสนแปรปรวน ทั้งตื่นเต้น ดีใจที่จะได้พบหน้าลูก ทั้งกังวลไปสารพัด การทำความเข้าใจและมีความรู้เรื่องการคลอดจะช่วยให้เบาใจได้ และการใช้หมอนซ้อนกันหลายใบบนเตียง จะช่วยให้คุณแม่นอนได้สบายขึ้น

 สัปดาห์ที่ 40  ทารกถึงกำหนดที่จะออกมาสู่โลกภายนอกในสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่เด็กที่ครบกำหนดคลอดจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 3 กก. และมีขนาดความยาว 50 ซม.จากหัวถึงปลายเท้า ถ้าผ่านสัปดาห์นี้ไปแล้วยังไม่คลอด อย่าได้กังวลใจ เพราะทารกมีอัตราการเติบโตและมีพัฒนาการต่างกัน