อยู่ไฟ อย่างปลอดภัย
อยู่ไฟ อย่างปลอดภัย
 
 
“อยู่ไฟ” เป็นวิธีการปฏิบัติตัวของคุณแม่หลังคลอดสมัยปู่ย่าตายาย ต้องอยู่ไฟกันอย่างเคร่งครัด แต่พอเข้าสมัยลุงป้าน้าอา การอยู่ไฟดูเหมือนจะความสำคัญลงไปบ้าง ใช้ทฤษฎีแพทย์แผนปัจจุบันจากตะวันตกเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ ล่วงเลยมาถึงสมัยนี้ มีการนำของเก่า ของใหม่ มาปรับใช้ร่วมกัน
             นับเป็นความโชคดีของคุณแม่ยุคปัจจุบันที่ความรู้ ภูมิปัญญาไทยด้านการอยู่ไฟยังไม่ได้หายไปไหน และได้รับการปรับปรุง ให้ดีขึ้น ให้เหมาะกับชีวิตประจำวัน และมีการศึกษาร่วมกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ และแพทย์แผนปัจจุบัน
 
ขั้นตอนการอยู่ไฟ
 
1.ดื่มน้ำสมุนไพรอุ่นๆ
อาจจะเป็นน้ำขิง น้ำตะไคร้ หรืออย่างน้อยๆ ก็ควรเป็นน้ำอุ่นๆ เพื่อช่วยให้สดชื่น และบำรุงน้ำนมแม่
  
2.อาบน้ำสมุนไพร
ช่วยทำความสะอาดผิวพรรณให้สะอาด รวมทั้งได้รับความสดชื่น และประโยชน์จากสมุนไพร ดังนี้
 
 ไพล,ขมิ้นชัน,ว่านน้ำ  สรรพคุณ  แก้ปวดเมื่อย ฟกช้ำ เพราะระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่มักมีอาการปวดเมื่อยบั้นเอง ต้นขา
 ตะไคร้, มะกรูด  สรรพคุณ  บำรุงผิวพรรณ ทำให้ระบบทางเดินหายใจโล่ง สะดวก ดับกลิ่นน้ำคาวปลา ทำให้กลิ่นตัวคุณแม่หลังคลอดหายไห
 ผักบุ้งแดง  สรรพคุณ  บำรุงสายตา
 ใบมะขาม, ส้มป่อย  สรรพคุณ  บำรุงผิวพรรณให้สดใส ระบบน้ำเหลืองในร่างกาย
 การบูร พิมเสน  สรรพคุณ  ทำให้สดชื่น ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจสดชื่น
 เกลือป่น  สรรพคุณ  ทำให้แผลแห้งเร็ว ผิวพรรณสดใส

 

3. ประคบด้วยลูกประคบ

             ภายในลูกประคบมีสมุนไพรที่ช่วยรักษาผิวพรรณโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วยไพล ตะไคร้ ขมิ้น ผิวมะกรูด ใบมะขาม เอามาบดพอหยาบๆ แล้วให้ผ้าห่อเป็นลูกประคบ ก่อนประคบก็จะนำลูกประคบไปนึ่งให้พออุ่นๆ
 
4. ทับหม้อเกลือ
             นำหม้อเกลือมาทับบริเวณเหนือสะดือเล็กน้อย ช่วยขับน้ำคาวปลา ลดอาการแข็งเกร็งหน้าท้อง ต้องมีการใช้สมุนไพรและวิธีทับหม้อเกลือ ดังนี้
 

              ภายในหม้อเกลือจะใส่เกลือตัวผู้ (เกลือเม็ดใหญ่) แล้วนำหม้อเกลือไปอังไฟ ให้เม็ดเกลือแตก จะกลายเป็นเกลือสะตุ (เหตุที่ใช้เกลือ เพราะเกลือเป็นตัวนำพาความร้อนได้ดี)

             นำว่านชักมดลูก และว่านนางคำ (มีสรรพคุณช่วยขับน้ำคาวปลา และช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น) มาหั่นหยาบๆ วางไว้บนผ้าขนหนูที่พาดไว้กับหน้าท้อง นำไปพลับพลึงวางทับ แล้วจึงนำหม้อเกลืออุ่นๆ มาวางบนใบพลับพลึง ซึ่งจะช่วยรักษาแผล ช่วยลดไขมันหน้าท้อง
 
5. นวดน้ำมัน และขัดผิว
             นวดด้วยน้ำมันหอมระเหยอย่างดี เลือกกลิ่นที่คุณแม่ชอบ หรือกลิ่นที่เพิ่มความสดชื่น ต่อด้วยการขัดผิวโดยใช้มะขามเปียก ผสมกับน้ำผึ้ง น้ำนม ช่วยขจัดรอยดำตามผิวพรรณ ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดร่วงง่ายขึ้น
 
6. เข้ากระโจม อบสมุนไพร
             หลักของการเข้ากระโจม เหมือนกับการอบซาวน่า คือ ต้องการให้เหงื่ออก ช่วยในการลดน้ำหนัก และยังมีไอระเหยจากสมุนไพรในหม้อต้ม คุณแม่จะได้สูดไอระเหยของสมุนไพร ทำให้หายใจสะดวก คลายเครียด รวมถึงการบำรุงผิวพรรณ ขับสารพิษทางผิวหนัง ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ในการเข้ากระโจม จะเป็นตัวเดียวกับที่ใช้ในการอาบน้ำ
 
             แต่การเข้ากระโจมต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก คือ
-  เข้าไป 10 นาที แล้วต้องออกมาพัก ดื่มน้ำสมุนไพร หรือน้ำธรรมดา
-  สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ถ้าเป็นแผล จะทำให้แผลลุกลามมากขึ้น เนื่องจากความร้อนในกระโจม โรคความดันโลหิตสูง ทำให้หน้ามืดได้ง่ายๆ เพราะ การเข้ากระโจมจะทำให้ระบบเลือดไหลเวียนเร็วขึ้น
 

              ดังนั้น ถ้าใครที่มีโรคประจำตัวก็ควรหลีกเลี่ยงขั้นตอนนี้ และถึงแม้คุณแม่จะแข็งแรงดี ก็ควรมีคนอื่นอยู่ด้วยเสมอ เพราะหลังคลอด คุณแม่ยังคงอ่อนเพลียจากการเสียเลือดระหว่างคลอดอยู่ อาจะเกิดอาการหน้ามืด เป็นลมไปได้

 

 
หลักการอยู่ไฟ ให้ปลอดภัย
-  ถ้าคลอดธรรมชาติ ต้องรอให้แผลฝีเย็บหายสนิทก่อน (7-10 วัน) และไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ถ้าผ่าตัดคลอด ต้องรออย่างน้อย 45 วัน ให้แผลผ่าตัดให้สนิท จะให้ดีควรได้รับการยืนยันจากแพทย์ ถ้าแผลหายไม่สนิท จะทำให้เกิดแผลอักเสบ
-  การอยู่ไฟ ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำกี่ครั้ง กี่วัน แต่จะให้ได้ผลดี อย่างน้อยควรจะ 5 ครั้ง (วันเว้นวัน)
สำหรับคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ ควรได้รับความเห็นชอบจากแพทย์
-  ถ้าทำได้ทุกขั้นตอนจะดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ทำตามขั้นตอนที่สะดวก และสามารถทำได้ และต้องทำควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า