เรื่องต้องรู้ ก่อนถึงวันคลอด
       วันแต่งงาน วันที่รู้ว่าท้อง หรือ วันคลอดลูก? วันไหนสำหรับคุณ คือวันที่ตื่นเต้นที่สุด
             แต่ละวันที่กล่าวมาล้วนมีความน่ายินดี แต่ไม่มีวันไหนที่คุณแม่จะต้องลุ้น เจือปนไปด้วยความวิตกกังวล ตื่นเต้นยินดี และเจ็บปวด..จากการคลอดลูก
             สำหรับคุณแม่ที่ตั้งท้องแรก เมื่อท้องโตขึ้นเรื่อยๆ เรื่องที่คิดถึงกันบ่อยๆ น่าจะเป็นเรื่องการคลอด เพราะไม่รู้วันเวลาที่แน่นอน และยังรู้สึกว่า การคลอดลูก ต้องเจ็บปวด ต้องทรมาน ทำให้หลายคนวิตกเกินกว่าเหตุ
             เรามาลดความกังวลด้วยการรับรู้ขั้นตอนการคลอด และทำความรู้จักห้องคลอด ก่อนการคลอดจริงกันค่ะ
การคลอดธรรมชาติ
             ตามหลักการแพทย์จะนับว่าระยะเวลาการตั้งท้องคือ 40 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย ซึ่งเราก็สามารถคะเนคร่าวๆ ถึงช่วงเวลาคลอดได้ แต่ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่า วันไหนคือวันที่จะคลอด แต่ธรรมชาติก็จัดการให้เราได้เตรียมพร้อมกับการคลอดกันบ้าง ได้แก่ อาการเจ็บท้อง
 
เจ็บจริง ใกล้คลอด
             อาการเจ็บท้องคลอดจริงมักมีอาการที่สำคัญนำมาคือ มีมูกเลือดออกมาจากทางช่องคลอด เกิดจากการที่มดลูกเริ่มมีการบีบตัว ปากมดลูกเริ่มเปิด จึงมีการปริของเยื่อหุ้มเด็กกับปากมดลูก ในท้องมีแรงดัน ก็จะดันมูกเลือดที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดออกมา อันนี้ถือเป็นสัญญาณแรก แล้วก็จะดำเนินไปจนถึงการคลอด
             อาการเจ็บท้องคลอด มีลักษณะค่อนข้างพิเศษคือ เจ็บเป็นจังหวะ ทุกกี่นาทีก็ได้ เวลาค่อนข้างแน่นอน สม่ำเสมอ และจะค่อยๆ ถี่ขึ้น แรงขึ้น บางคนบอกว่าเหมือนปวดท้องถ่าย บางคนบอกว่าเหมือนปวดประจำเดือน แต่ถ้าเจ็บแล้วหายไปนานๆ แล้วกลับมาเจ็บใหม่ ไม่สม่ำเสมอ อย่างนี้เรียกเจ็บหลอก
 
เข้าสู่การคลอด
             ถ้าอาการเจ็บครรภ์เป็นของจริง คุณแม่จะได้เข้าไปอยู่ที่ห้องรอคลอด คุณพยาบาลจะให้คุณแม่ปัสสาวะ และสวนอุจจาระให้ จากนั้นก็ทำความสะอาดบริเวณที่จะคลอด ติดเครื่องเครื่องมือที่เช็คการหดรัดตัวของมดลูก และเครื่องฟังเสียงหัวใจเด็ก เพื่อคอยตรวจสอบไปเรื่อยๆ
             ระยะที่ 1 คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องไปเรื่อยๆ เมื่อปากมดลูกมีการบางตัวลง และเริ่มเปิดมากขึ้น ประมาณ 3-4 เซนติเมตร จนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด ช่วงนี้จะกินเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง โดยประมาณ (อาจจะสั้นหรือนานกว่านี้ก็ได้)
             ระยะที่ 2 เริ่มเมื่อปากมดลูกเปิดหมดแล้ว คือประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นความกว้างเท่ากับเชิงกรานพอดี ศีรษะเด็กก็จะลงมาถึงบริเวณเชิงกรานหมดแล้วเช่นกัน เราอาจเรียกช่วงนี้ว่าเป็น ระยะเบ่ง ซึ่งกินเวลาประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ในช่วงนี้เองที่ต้องมีการเฝ้าฟังเสียงหัวใจเด็กตลอด เพราะหัวเด็กถูกบีบรัดเต็มที่ จนกระทั่งเด็กคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์
 
คลอดท่าไหน สบายที่สุด
             ท่าที่เด็กก้มหน้าลงไปเป็นท่าที่ดี พอมีแรงดันจากแม่ส่งมา หน้าเด็กก็จะค่อยๆ เงย พอพ้นระยะนี้ก็สบาย เพราะไหล่จะลู่ออกมาตาม ยกเว้นแม่ที่เป็นเบาหวาน เด็กอาจจะมีไหล่ใหญ่ ต้องมีคนช่วยคลอด เด็กจะไหลตามแรงเบ่งของแม่ ซึ่งหมอตำแยก็ทำคลอดได้ง่ายๆ ถ้านอกเหนือจากท่าพวกนี้ คือท่าผิดปกติหมดแล้ว เพราะโดยธรรมชาติ เด็กจะลงมาแล้วก็หมุนคว่ำเอง (ถ้าช่องคลอดไม่มีปัญหา คือ เชิงกรานใหญ่พอ เด็กตัวไมใหญ่มากนัก แต่ถ้าหมุนออกมาในท่านอนคว่ำหน้าไม่ได้ ก็ต้องมีการช่วยเหลือ
 
             ระยะที่ 3 เป็นช่วงของการคลอดรก และการเย็บแผลฝีเย็บให้เรียบร้อย ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่จะไม่รู้สึกอะไรมากนัก เพราะรู้สึกโล่งสบาย จากการคลอดลูก รวมทั้งความสนใจจะไปอยู่ที่ตัวลูกน้อยแทน
 
อุปกรณ์ช่วยคลอด
             แต่ถ้าการคลอดดำเนินมาสักพัก แล้วคุณแม่หมดแรงเบ่ง ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี จึงต้องมีการใช้อุปกรณ์ช่วยคลอด ซึ่งอุปกรณ์ช่วยคลอดในการคลอดธรรมชาติมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ
 
เครื่องดูด เมื่อศีรษะเด็กออกมาแล้วนิดหน่อย แต่คุณแม่แรงเบ่งน้อย หรือใกล้หมดแรง คุณหมอก็จะต่อเครื่องดูดนี้กับศีรษะเด็ก ซึ่งมีลักษณะเมื่อถ้วยเล็กๆ และจะมีสายที่ต่อเข้ากับตัวเครื่องดูดอีกที (vacuum) จากนั้นคุณหมอก็จะค่อยๆ เพิ่มแรงดูดทีละนิด แต่แม่ก็ยังต้องเบ่ง เครื่องนี้ก็เสมือนเครื่องมือช่วยให้เด็กออกมาง่ายขึ้น
 
             ผลจากการใช้เครื่องนี้จะทำให้ ศีรษะบริเวณที่ถ้วยครอบนั้นมีน้ำมาคั่งอยู่ เหมือนกับหัวโน แต่รอยนี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้ามีเลือดมาคั่งด้วย เพราะเส้นเลือดฝอยแตก รอยก็จะหายช้าหน่อยคือ ประมาณ 3-4 วัน และหัวเด็กอาจจะมีรอยถลอกได้บ้าง
 
คีม จะมีหลายแบบ หลายขนาด ขึ้นอยู่กับตำแน่งของศีรษะเด็กว่าอยู่ท่าไหน เช่น ถ้าเด็กไม่คว่ำหน้า จำเป็นต้องหมุนหัวเด็ก ก็จะใช้คีมด้ามยาว หรือถ้าแค่ช่วยประคองศีรษะเด็กออกมา ก็จะใช้ด้ามสั้น ซึ่งการใช้คีมนี้ต้องให้สูติแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น เพราะการใช้อุปกรณ์นี้อาจจะเป็นอันตรายกับช่องทางคลอดได้ (คุณแม่ต้องทำการบล็อกหลัง)
 
             ปัจจุบันก่อนจะใช้เครื่องมีช่วยคลอด ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณหมอผู้ทำคลอด และคุณพ่อคุณแม่
 
ตามไปดูห้องคลอด...
             ในโรงพยาบาลรัฐบาล ห้องคลอดธรรมชาติ จะแบ่งเป็น ห้องรอคลอด และห้องคลอด แต่ถ้าในโรงพยาบาลเอกชนห้องรอคลอด และห้องคลอดมักจะอยู่ห้องเดียวกันเลย เนื่องจากจำนวนคนใช้บริการน้อยกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล
 
ห้องรอคลอด ภายในห้องรอคลอด จะเป็นห้องที่มีเตียงอยู่หลายเตียง ซึ่งจะมีนางพยาบาลเป็นผู้ดูแล คอยเช็คว่ามดลูกเปิดเท่าใดแล้ว และเมื่อใกล้คลอด หรือมีปัญหาใดๆ จึงตามคุณหมอผู้ทำคลอด
 
ห้องคลอด ภายในห้องคลอดจะมีเตียงน้อยกว่าห้องรอคลอด มีสูตินรีแพทย์ พยาบาลดูแลอยู่ประจำเตียง 1 คุณแม่ (ใกล้คลอด) กับ 1 พยาบาล และมีพยาบาลอีก 1 คน (ต่อ 3-4 เตียง) ที่คอยเดินไปมาทุกเตียงเพื่อดูว่าอะไรขาดเหลือบ้าง ซึ่งการอยู่ในห้องคลอดมักจะกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
 
ห้องผ่าตัด ถ้ามีเหตุฉุกเฉินต้องผ่าตัดคลอด ก็จะย้ายเข้าห้องผ่าตัด ซึ่งมักจะอยู่ติดกัน ในห้องผ่าตัด มีสูตินรีแพทย์ 2 คน (ผู้ช่วย 1 คน) วิสัญญีแพทย์ 1 คน (หมอวางยาสลบ หรือฉีดยาบล็อกหลัง) มีพยาบาลอย่างน้อย 2 คน คือ พยาบาลที่คอยส่งเครื่องมือให้หมอ (scrub nurse) 1 คน และ พยาบาลผู้ช่วยที่คอยหยิบของอย่างอื่น หรือผู้ช่วยในการผูกเสื้อให้คุณหมอ
 
             เมื่อคลอดออกมาแล้ว คุณหมอผู้ทำคลอดเป็นผู้ที่ดูดน้ำคร่ำ ฟังเสียงหัวใจ เช็คสุขภาพเบื้องต้น ถ้าเด็กปกติดี ก็นำเด็กไปทำความสะอาดและตรวจเช็คอีกทีที่ห้องเนอสเซอรี่ แต่ถ้ารู้ก่อนคลอดว่าเด็กอาจมีอาการผิดปกติ หรือคลอดออกมาแล้ว มีอาการผิดปกติ จะมีการตามกุมารแพทย์มาในช่วงการคลอดด้วย เพื่อรับตัวเด็กไปตรวจอย่างทันท่วงที
 
ขั้นตอนการผ่าตัด
1.วิสัญญีแพทย์ทำการวางยาสลบ หรือ บล็อกหลัง
2.ทำความสะอาดบริเวณหน้าท้องโดยการฟอกด้วยสบู่และน้ำยาฆ่าเชื้อ
3.เริ่มลงมือผ่าตัด โดยการผ่าตัดลงไปเป็นชั้นๆ ไล่ไปตั้งแต่ชั้นผิวหนัง ไขมัน พังผืด กล้ามเนื้อ จนกระทั่งถึงช่องท้อง และลงไปถึงเยื่อหุ้มเด็ก จากนั้นก็เจาะถุงน้ำคร่ำ ดูว่าท่าเด็กอยู่ท่าไหน ถ้าอยู่ท่าก้นก็ต้องเอาก้นออกก่อน เพราะการเปิดช่องมดลูกจะผ่าด้วยความกว้างเพียงหัวเด็กผ่านออกมาได้เท่านั้น ใช้เทคนิคคล้ายๆ กับการคลอดเด็กทางช่องคลอด เมื่อนำเด็กออกมาแล้ว ตัดสายสะดือเรียบร้อย จะซับน้ำคาวปลา จากนั้นจึงเย็บปิดไล่ชั้นขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนตอนผ่าตัดเปิดแผล
4.เย็บปิดแผลหน้าท้อง ใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที
5.พาคุณแม่ไปพักที่ห้องพักรอดูอาการหลังคลอด (ทั้งคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ หรือผ่าตัดคลอด) ประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อรอดูอาการ เช่น ความดันโลหิตเป็นปกติ การหายใจเป็นปกติ จากนั้นจึงย้ายไปห้องพักฟื้นปกติ
 
             ก่อนการผ่าตัด พยาบาลในห้องผ่าตัดจะทำการนับเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดว่ามีกี่ชิ้น เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วก่อนที่คุณหมอจะเย็บปิดแผล ก็จะทำการนับเครื่องมือผ่าตัดให้ครบทุกชิ้นอีกครั้ง เป็นการป้องกันการลืมอุปกรณ์หรือผ้าไว้ในตัวคนไข้