ท้องนี้ น้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะดี?

                “You are what you eat  คุณกินอะไรก็จะเป็นแบบนั้น” คุ้นกับประโยคนี้ไหมคะ ประโยคนี้เป็นความจริงเอามากๆ เลยทีเดียว เพราะอาหาร จะถูกย่อยสลาย เผาพลาญ ถ้าเรารับประทานอาหารที่มีไขมันเข้าไปมากๆ ร่างกายเราก็จะอ้วนขึ้นทันตาเห็น หรือถ้าเรารับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการน้อย ร่างกายเราก็จะอ่อนแอลง ผอมลงทันตาเห็นเช่นเดียวกัน มันเป็นจริงแบบนั้นเสมอมาใช่ไหมค่ะ แต่ความจริงนี้ก็จะไม่จริงๆ เอามากๆ เช่นกันเมื่อคุณแม่มีเจ้าตัวเล็กเกิดขึ้นในครรภ์  เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณแม่ท้อง มันไม่ใช่แค่ คุณแม่คนเดียวเท่านั้นที่กินอะไรก็จะเป็นแบบนั้น แต่จะรวมถึงลูกในท้องด้วยค่ะ

                ในช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคุณแม่เมื่อมีเจ้าตัวเล็กเกิดขึ้นในครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะอ่อนแอลงเพราะฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ บางครั้งก็ทำให้เบื่ออาหาร บางครั้งก็ทำให้อยากอาหาร เมื่อความต้องการของร่ายกายเปลี่ยนแปลงไปมา จนทำให้ไม่แน่ใจว่า เราควร

รับประทานอะไร อย่างไร ในปริมาณเท่าไหร่ มีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยช่วยคุณแม่ในการตัดสินใจเรื่องการรับประทานอาหาร นั่นก็คือ “น้ำหนักตัว” ค่ะ

                ในช่วงของการตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคุณแม่ที่มีน้ำหนักน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักของทารกแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ในขณะที่คุณแม่ที่อ้วน ก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ง่าย มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานในขณะตั้งครรภ์

                 การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ตามเกณฑ์ในขณะตั้งครรภ์ ต้องเริ่มจากการที่คุณแม่มีน้ำหนักอยู่ตามเกณฑ์ปกติก่อนการตั้งครรภ์ค่ะ แต่หากคุณแม่มีน้ำหนักเกินก่อนการตั้งครรภ์ การลดน้ำหนักลงมาให้อยู่ตามเกณฑ์จะก่อนที่คุณแม่จะเริ่มตั้งครรภ์ ก็ช่วยให้คุณแม่และคุณลูกที่จะเกิดมามีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงค่ะ โดยทั่วไปแล้ว คุณหมอจะมีเกณฑ์คร่าวๆ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณแม่เพิ่มน้ำหนักตัวได้อย่างเหมาะสมโดยพิจารณาจากน้ำหนักตัวคุณแม่ก่อนคลอดเป็นหลักดังนี้ค่ะ
 
น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์                            น้ำหนักที่ควรเพิ่ม (กก.)        อัตราน้ำหนักที่ควรเพิ่ม (กก./ต่อสัปดาห์)
น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน                             13 – 18.5                                 มากกว่า 0.5
น้ำหนักปกติ                                            11.5 – 16                                     0.5          
น้ำหนักเกินมาตรฐาน                                 7 – 11.5                                      0.3          
 น้ำหนักเกินมาก                                       7                                                0.3          
ท้องลูกแฝด                                            14 – 20.5                                     0.75        
 
                สำหรับคุณแม่ที่ท้องช่วง 3 เดือนแรก และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 – 3.5 กิโลกรัม เป็นเพราะตัวคุณแม่จะเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ร่างกาย เพื่อให้ร่างกายพร้อมรับกับภาระอันหนักอึ้งที่จะตามมาในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
 
   คุณแม่ท่านใดที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มก็ไม่ต้องกังวลค่ะ แต่ในช่วงระหว่างที่คุณแม่ท้องประมาณ 4 – 9 เดือน คุณแม่ควรมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม เพื่อช่วยเสริมสร้างและพัฒนาร่างกายของลูกในครรภ์ คุณแม่ควรจะค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปดีกว่าการเพิ่มอย่างพรวดพลาดนะคะ
 
   แม้ว่าน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของคุณแม่จะเป็นสัญญาณเชิงบวกในการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ก็ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะมีงานวิจัยพบว่า คุณแม่ท้องที่มีน้ำหนักเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ มักจะไม่สามารถลดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ ภายใน 6 เดือนหลังคลอด และมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคอ้วนในอีก 10 ปีให้หลัง ในขณะที่คุณแม่ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติจะสามารถลดน้ำหนักได้เองในกระบวนการคลอดและหลังคลอด เพราะการให้นมลูก จะเป็นการเผาพลาญไขมันได้ 500 แคลลอรี่ต่อวัน
 
   สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับน้ำหนักตัวของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ คือ “ห้ามคุณแม่ลดน้ำหนักในขณะตั้งครรภ์” เพราะการลดน้ำหนักในขณะตั้งครรภ์ มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งของคุณแม่และของคุณลูกในท้อง การอดอาหารจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร เกลือแร่ และวิตามินที่จำเป็นในกระบวนการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลเสียที่ร้ายแรง เช่น ลูกที่เกิดมาอาจจะพิการ หรือเสียชีวิตขณะคลอดได้
 
   ดังนั้นในช่วงของการตั้งครรภ์ การเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม อาหารจานโปรดของคุณแม่ที่เมื่อทานแล้วอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และลูกก็ควรงด ดื่มนมเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็จะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของทั้งแม่และลูกค่ะ