ทำความรู้จักจุดกำเนิด ของลูกน้อย
 
สัญญาณสำคัญสำหรับผู้หญิงที่ทำให้ทราบว่าตัวเองกำลังจะเป็นแม่ ก็คือ ประจำเดือนที่เคยมาเยี่ยมเยือนทุกเดือนหายไป สาวๆ ยุคใหม่อย่างพวกเรา อาจจะพอทราบกันบ้างว่า ประจำเดือนขาด หมายความว่าเราอาจจะตั้งครรภ์ แล้วเคยสงสัยไหมคะ ว่า ประจำเดือนหายไปไหน? หายไปเพราะอะไร? แล้วทราบไหมค่ะว่า กระบวนการที่ทำให้ประจำเดือนหายไปนั้น มันเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของร่ายกายมากมาย  ยิ่งเรารู้จักกระบวนการนี้ดีมากแค่ไหน เราก็จะสามารถเตรียมตัวรับกับความเป็นแม่ได้ดีขึ้น เรียกว่า เตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ ค่ะ
 
การที่ร่างกายของผู้หญิงจะทำให้เกิดประจำเดือนนั้น มันเกี่ยวข้องกับทั้ง มดลูก สมอง  แล้วก็รังไข่  อวัยวะทั้ง 3 ต้องทำงานประสานงานกันเป็นอย่างดีจึงจะทำให้เกิดประจำเดือนขึ้นอย่างปกติ 
 
มดลูก      หากเปรียบเทียบง่ายๆ มดลูกจะมีลักษณะคล้ายๆ ผลชมพู่คว่ำ ที่บริเวณขั้วของชมพู่เปรียบเหมือนปากมดลูก ขนาดของมดลูกก็ไม่เล็กไม่ใหญ่กว่าผลชมพู่มากนัก
 
มดลูกเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่ ภายในมดลูกก็จะมีลักษณะเป็นโพรง ที่มีเนื้อเยื่อนุ่มๆ บุอยู่โดยรอบ เหมือนห้องที่บุด้วยพรมทั่วทั้งห้อง เนื้อเยื่อที่บุอยู่โดยรอบนั้นเรียกว่า “เยื่อบุโพรงมดลูก” ซึ่งต่อไปจะพัฒนาไปเป็นที่นอนสำหรับลูก ในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์
 
รังไข่       มีลักษณะคล้ายๆ กับไข่นกกระทา และขนาดของรังไข่ก็เท่าๆ กับขนาดของไข่นกกระทาด้วย รังไข่เล็กๆ นี้ ทำหน้าที่สำคัญมากในการตั้งครรภ์ เพราะรังไข่ก็ทำหน้าที่ผลิตไข่ ซึ่งถือเป็นพิมพ์เขียวของคุณแม่ที่จะถ่ายทอดมาสู่ลูก นอกจากนี้รังไข่ยังเป็นผู้ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ นั่นก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนที่ช่วยแสดงลักษณะความเป็นหญิงและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ช่วยแสดงลักษณะความเป็นชาย ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้มีบทบาทและหน้าที่หลายอย่างในร่างกายของเรา แต่หน้าที่สำคัญของฮอร์โมนทั้ง 2 ในการตั้งครรภ์ก็คือ การกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโต หนาตัว และนุ่นขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับลูกตัวน้อยๆ ที่กำลังจะเกิด
 
สมอง      เป็นอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกาย สำหรับกระบวนการตั้งครรภ์นั้น สมองก็มีส่วนมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะสมองเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด มากระตุ้นรังไข่ให้เริ่มพัฒนาเจ้าไข่ใบจิ๋วที่แทบจะมองไม่เห็นในตอนเริ่มต้น ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่เจ้าไข่ใบจิ๋วกำลังเติบโตขึ้นก็จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนไปด้วย เอสโตรเจนนี้เองที่จะไปกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้น ในขณะที่โปรเจสเตอโรน ก็จะไปกระตุ้นให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกนุ่นขึ้น ให้เหมาะเป็นที่ฝังตัวของลูก
 
ประจำเดือนมาจากไหน
หากไข่ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวของคุณแม่เดินทางมา แต่ไม่พบเจออะไรเลย ไข่ก็จะสลายตัวไป ส่วนที่เหลือของฟองไข่ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างโปรเจสเตอโรนก็จะค่อยๆ ฝ่อไป ฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหมดลงด้วย เจ้าที่นอนนุ่มๆ สำหรับลูกหรือเยื่อบุโพรงก็จะค่อยๆ หลุดออกมา และกลายเป็นประจำเดือนไปในที่สุด
 
ประจำเดือนหายไปไหน
ในกรณีที่เจ้าไข่ใบจิ๋ว เดินทางมาพบกับตัวต้นแบบทางฝั่งของคุณพ่อหรือเชื้ออสุจิ ทั้ง 2 อย่างก็จะผสมกันแล้วต่างก็จูงมือกันไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ในขณะเดียวกันไข่ที่ช่วยในการสร้างฮอร์โมนก็จะไม่สลายไป แต่จะเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นและนุ่มขึ้นจนเพียงพอต่อการฝังตัวของลูก เมื่อไข่นั้นปฏิสนธิและฝังตัวแล้ว เจ้าไข่นี้เอง ก็จะเป็นตัวสร้างฮอร์โมนอีกมากมายหลายชนิดเพื่อกระตุ้นไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอก จึงทำให้คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ไม่มีประจำเดือนตลอดการตั้งครรภ์
 
ประจำเดือนครั้งสุดท้าย จะเป็นหัวข้อหนึ่งที่คุณแม่ต้องกรอกเมื่อไปฝากครรภ์กับคุณหมอ เพราะประจำเดือนครั้งสุดท้ายจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลในการช่วยคะเนกำหนดคลอด ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับคุณแม่ที่มีประจำเดือนค่อนข้างตรงกันและสม่ำเสมอในแต่ละเดือน แต่สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่ค่อยตรงกันในแต่ละเดือน การคำนวณกำหนดคลอดจากประจำเดือนครั้งสุดท้ายอาจจะมีการคลาดเคลื่อน
 
แต่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะคุณหมอมีวิธีการอีกหลายวิธีที่จะใช้บอกอายุครรภ์และกำหนดคลอด เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การตรวจขนาดหน้าท้อง และสิ่งสำคัญคือ ความรู้สึกของคุณแม่เอง ว่าเจ้าตัวเล็กในท้องเริ่มดิ้นเมื่อไหร่ ข้อมูลทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณหมอสามารถประเมินได้ว่า คุณแม่จะครบกำหนดคลอดเมื่อไหร่ค่ะ