มือน้อยๆ ของหนูทำอะไรได้บ้าง
 “จ้ำจี้ มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น พายเรืออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม สาวๆ หนุ่มๆ อาบน้ำท่า...ไหน...”
“วัด!!” เจ้าตัวเล็กตอบ พร้อมกับเอามือจิ้มๆ ไปที่มือคุณแม่อย่างชอบใจ นี่แน่ะๆ นิ้วหนูก็จิ้มเลียนแบบที่แม่จิ้มตามจังหวะเมื่อกี๊ ได้เหมือนกันน้า...
                การละเล่นจ้ำจี้ เป็นกิจกรรมยามว่าง ที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกได้ดีอีกวิธีหนึ่งค่ะ เราลองมาดูกันซิว่า ในวัยนี้นิ้วมือน้อยๆ ของลูก จะมีพัฒนาการอย่างไรกันบ้าง
 
ชอบถือ
                คุณแม่จะเห็นว่าลูกมักมีของเล่นชิ้นโปรดถือติดมือไว้อยู่เสมอๆ เพราะความสามารถในการใช้มือของลูกได้พัฒนาขึ้น จนเขาสามารถพกเอาความสนุกส่วนตัว (ของเล่นชิ้นโปรด) ไปไหนมาไหนด้วยได้ ลูกสามารถถือของด้วยมือข้างเดียว เริ่มจากการกำของเล่นทั้งมือ เมื่อกล้ามเนื้อนิ้วแข็งแรงมากขึ้น ก็จะสามารถใช้นิ้วโป้ง และนิ้วชี้ หยิบจับสิ่งของเล็กๆ ได้              
 

                 วิธีส่งเสริม พยายามให้ลูกใช้มือ ด้วยการเตรียมของเล่นหลายขนาดให้เขาหยิบ อาจเริ่มจากรูปทรงที่หยิบได้ง่าย เช่น สี่เหลี่ยม ทรงกลม จากนั้นก็เปลี่ยนขนาดและรูปทรงที่ต้องใช้นิ้วคอยพยุงมากขึ้น และฝึกให้ลูกหยิบของในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง ถือช้อนตักกินข้าว ถือแก้วน้ำหัดดื่มเอง หรืออาจขอร้อง “ลูกคนเก่งช่วยหยิบปากกาบนโต๊ะให้คุณแม่หน่อยนะคะ” แล้วเพิ่มขนาดและความยากในการถือมากขึ้น

 
ชอบขยำ ขยุ้ม
เวลาที่คุณแม่อ่านหนังสือให้ฟัง เจ้าตัวเล็กก็จะเริ่มใช้วิชากรงเล็บของแมวเหมียว ขยุ้มหนังสือหน้านั้นทันที จนคุณแม่ห้ามแทบไม่ทัน ลูกสามารถบังคับมือตัวเองให้ กำ – แบ ได้ตามชอบใจแล้วค่ะ ก็เลยขอทดลองฝีมือกันหน่อย ลองขยำกระดาษจดหมายของคุณพ่อดูซิ ขยุ้มเจ้าตุ๊กตาขนปุยอีกซักหน่อย หรือแม้แต่ขยุ้มเสื้อคุณแม่ ก็เป็นอะไรที่น่าลองเหมือนกันนะ
 
                 วิธีส่งเสริม ชวนลูกเล่นแป้งโด ลูกจะได้ขยำ กำมือ แบมือ และออกแรงนวดแป้งให้เป็นรูปร่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นก้อน (ไม่กลม) หรือเป็นเส้นยึกยือ ซึ่งการเล่นแป้งโด นอกจากจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ระหว่างที่ลูกนวดแป้งและคิดต่อว่าจะปั้นเป็นอะไร ยังช่วยสร้างเส้นใยประสาทในสมองของลูก ให้แตกแยกย่อยออกไปอีกด้วย
 
ชอบซ้อน
ลูกสามารถหยิบของชิ้นเล็ก เช่น บล็อกไม้ ถ้วยชามใบเล็ก แผ่นไม้ หรือของเล่นชิ้นเล็กๆ วางซ้อนสูงขึ้นไปได้ โดยช่วงแรกอาจวางได้สูงเพียง 2 ชั้น แต่จะเพิ่มจำนวนชั้นมากขึ้น เป็น 4-5 ชั้น เมื่อลูกได้เล่นประจำ
 
                วิธีส่งเสริม จัดหาของเล่นที่ซ้อนกันได้ง่าย เช่น บล็อกไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมหลากสี เอาไว้ใกล้ๆ ตัวลูก อาจใช้การเล่านิทาน หรือร้องเพลงที่แต่งขึ้นเอง เช่น  “ตึ่ง ตึง ตึง ตึ๊ง วันนี้ คนแคระทั้ง 7 สร้างบ้าน
 หลังใหญ่ๆ ใหญ่กว่าเมื่อวาน...ใหญ่แค่ไหนน้า ลูกลองทำให้แม่ดูซิ” เข้ามาสร้างบรรยากาศการเล่นให้สนุกมากขึ้น
 
ชอบขีด - เขียน
ช่วงแรก ลูกจะชอบการกำสีแท่งโตอย่างสีเทียน ด้วยมือทั้งมือ แล้วขีดลงบนกระดาษ (หรือสถานที่ต่างๆ เช่น ผนังบ้าน หรือโต๊ะคุณพ่อ) เพียงแค่ให้สีจากมือเขาไปติดอยู่บนสิ่งของเหล่านั้น เป็นเส้นๆ ไม่มีทิศทาง ก็ชอบอกชอบใจ มักไม่ค่อยอยากเปลี่ยนสีนัก และเล่นได้เดี๋ยวเดียว ก็จะหันไปเล่นของเล่นอย่างอื่น 
 
                วิธีส่งเสริม  ให้สีเทียนแท่งโตลูกไว้เป็นของเล่นประจำตัว และอย่าลืม
หากระดาษแผ่นใหญ่ๆ ให้เขาไว้ด้วยนะคะ ลูกจะได้ฝึกลากเส้นยุ่งๆ บนกระดาษ อยู่บ่อยๆ จากเส้นบาง เบา ไม่มีทิศทาง จะเริ่มเป็นเส้นที่ชัดและเข้มมากขึ้น สามารถขีดบังคับทิศทางอย่างง่าย และวาดวงกลม (ที่ยังไม่ค่อยกลมเท่าไร)ได้  

เพิ่มความสนุกด้วยการเรียนรู้เรื่องสี โดยขั้นต้น ลองพูดพากย์ระหว่างที่เขาหยิบสีต่างๆ มาขีด “น้องนนท์ขีดสีเขียว” “น้องนนท์วางสีเขียว หยิบสีแดงขึ้นมาขีดแล้ว” เพิ่มเป็น “น้องนนท์ลองขีดสีฟ้าเป็นเส้นยาวๆ ดูซิ…นั่นแหละ เก่งมากค่ะ ” จะเป็นการเตรียมความพร้อมกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูก ให้มีความแข็งแรงและมั่นคงเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญ สำหรับการจับดินสอขีดเขียนเมื่อเข้าโรงเรียนในอนาคตได้ค่ะ