ลูกเราเข้าใจคำพูดแค่ไหน?
เคยสงสัยไหมว่า สิ่งที่เราพูดไป ลูกของเราเข้าใจเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าลูกพูดได้แล้ว ก็อาจโต้ตอบกับพ่อแม่ หรือทำตามคำสั่ง แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ เรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติขั้นพื้น
ฐานของลูกกันก่อน
 
ทักษะความเข้าใจตามช่วงวัย
1 ปี
สามารถเข้าใจคำพูด ประโยคหรือคำสั่งง่ายๆ เช่น หยุดหรืออย่า ที่พ่อแม่พูด สามารถเชื่อมโยงเรื่องราว คำศัพท์ ในชีวิตประจำวันต่างๆ ได้ เช่น รู้จักชื่อตัวเอง รู้ว่าใครคือพ่อ แม่ และพูดเป็นคำสั้นๆ เช่น พ่อ แม่ แสดงออกด้วยท่าทาง เช่น พยักหน้า ส่ายหน้าได้
1 ปีครึ่ง
เข้าใจคำสั่งและทำตามคำสั่งโดยมีท่าทาง (เช่น คุณแม่บอกให้ไหว้คุณหมอ พร้อมทำท่าให้ลูกดู) จนค่อยๆ ทำตาม
คำสั่งได้โดยไม่ต้องมีท่าทาง เช่น ทิ้งขยะได้เอง โดยที่คุณไม่ต้องใช้มือไปที่ถังขยะให้ลูกดู และยังรู้จักบอกอวัยวะของตัวเองได้ถึง 3 ส่วน เช่น ตา หู หรือจมูก พูดคำพยางค์เดียวได้ 10-20 คำ และเลียนเสียงรถหรือสัตว์ร้องได้ สามารถบอกความต้องการและรู้จักการปฏิเสธเป็น เช่น เอา ไม่เอา
2-3  ปี
อายุ 2 ปี สามารถทำตามคำสั่งได้ 2 ขั้นตอน โดยไม่ต้องมีท่าทาง เช่น ทิ้งขยะลงถังแล้วหยิบผ้ามาให้แม่ รู้หน้าที่ของสิ่งของต่างๆ เช่น ช้อนมีไว้ตักข้าว แก้วน้ำมีไว้ดื่ม หรือรู้จักกิริยาของสัตว์ เช่น หมาร้องโฮ่งๆ แมวร้อง เหมียวๆ และเข้าใจคำถาม “นี่อะไร” ชี้ภาพได้ถูกต้องเมื่อถามได้ พูด 2-3 พยางค์ เช่น กิน ไปเที่ยว
เมื่ออายุ 3 ปี ความเข้าใจและการเชื่อมโยงคำศัพท์มีมากขึ้น เข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อน เริ่มเข้าใจบุพบท,จำนวน, เพศของตัวเอง รู้จักสี .รู้จักเปรียบเทียบ พูดเป็นประโยคสั้นๆ บอกชื่อตัวเองได้ บอกความต้องการ เล่าเรื่องได้ ตอบคำถามที่ขึ้นต้น “อะไร ที่ไหน” สนใจคำถามโดยเฉพาะการตั้งคำถามของเด็กวัยนี้ ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่สังเกตได้ เพราะลูกมีความสนใจ อยากรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น
 
แนวทางการส่งเสริมของพ่อแม่
- พูดคุยกับลูกอย่างเป็นธรรมชาติ จากเรื่องใกล้ตัว ชีวิตประจำวัน เช่น คุณแม่ทำอะไรให้พูดไปด้วย เช่น กินข้าวก็บอกว่า กินข้าวนะลูก ทำท่าจะป้อนข้าว เพื่อช่วยให้ลูกเชื่อมโยงคำศัพท์สิ่งต่างๆ ได้ดี สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ
- ควรเป็นตัวอย่างการที่ดีในการพูด เช่น ใช้คำพูดที่เหมาะสม ไพเราะ พูดให้ชัดเจน และไม่ล้อเลียนลูกในเรื่องการพูดไม่ชัด แต่ควรให้กำลังใจกับลูก
- การอ่านนิทาน โดยใช้เสียงสูง ต่ำ มีรูปภาพประกอบ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องคำศัพท์ การเชื่อมโยงเรื่องราวได้เป็นอย่างดี 
- พูดคุย ตั้งคำถามกับลูกอย่างเหมาะสม ควรเป็นคำถามปลายเปิด เช่น “นี่อะไรค่ะ”
- ควรฟังลูกพูดและมีปฏิกิริยาตอบสนอง ด้วยน้ำเสียง ที่นุ่มนวล ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าลูกซักถาม ก็ต้องทำตัวเป็นคุณแม่ช่างตอบ ถ้าคำถามยังตอบไม่ได้ อาจใช้วิธีหาคำตอบในภายหลังหรือชวนลูกค้นหาคำตอบด้วยกัน
- การสอนลูกเรื่องภาษา ควรดูความพร้อมของลูกตามช่วงวัย เพื่อจะได้ส่งเสริมได้เหมาะสม ไม่มากเกินไป ทำให้ลูกเบื่อหน่ายหรือไม่สนใจ

- สื่อที่ลูกเรียนรู้ ควรเป็นสื่อที่สื่อสารสองทาง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงเรื่องราวได้ดี เช่นหากลูกจะดูวีซีดี พ่อแม่ควรเลือกสื่อที่เหมาะกับวัย และดูพร้อมกับลูก คอยแนะนำ สอนลูก อย่าให้ลูกใช้เวลากับการดูวีซีดีมากเกินไป การอ่านนิทาน เล่นกับลูก จะส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างเต็มที่ค่ะ