พี่อิจฉาน้อง
เมื่อพี่อิจฉาน้อง
             ลำพังเจ้าจอมป่วนวัยซนเพียงคนเดียว ก็ทำให้คุณแม่ต้องปวดหัวกับพฤติกรรมแปลกๆ ของลูก ที่มีมาท้าทายไหวพริบแทบทุกวันอยู่แล้ว มาวันนี้คุณแม่กำลังจะมีน้องใหม่ให้เขา แต่เคยได้ยินคำร่ำลือมาอีกว่า เด็กเล็กที่มีน้องใหม่ จะรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์ ทำให้มีปัญหาพฤติกรรมมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
   

(ว่าที่)คุณแม่ลูกสองยิ่งอดเป็นกังวลล่วงหน้าไม่ได้ใช่ไหมคะ จึงชวนคุณแม่มาเตรียมตัว เตรียมใจลูก ให้พร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ ในครอบครัวกันค่ะ

มีน้องใหม่ ส่งผลอย่างไรต่อลูก
             สิ่งที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อาการอิจฉาน้อง โดยมีสาเหตุเริ่มต้นจากเวลาที่แม่มีให้เขาลดน้อยลงตั้งแต่ตั้งครรภ์ ต้องดูแลร่างกายตนเองมากขึ้น ทำให้เล่นกับเขาไม่ได้เหมือนเดิม พอหลังคลอดต้องเอาเวลาเกือบทั้งหมดไปดูแลอุ้มน้อง ให้นมน้อง แต่ไม่ได้อุ้มเขาเหมือนเดิม ทำให้ลูกวัยเตาะแตะเกิดความไม่แน่ใจว่าแม่ยังรักเขาเหมือนเดิมหรือเปล่า ความรู้สึกอิจฉาน้อง จึงเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ  แต่การแสดงออกของลูกจะเป็นตัวชี้วัดว่า ความอิจฉานี้เหมาะสมหรือไม่
             - หากลูกพูดว่า หนูไม่ชอบน้อง แล้วมีอาการอ้อนแม่ หรืองอแงมากขึ้น แต่เขาก็ยังสามารถช่วยแม่ดูแลน้อง ช่วยหยิบของ หรือเล่นกับน้องได้บ้าง ก็ยังถือว่าเป็นการอิจฉาในเกณฑ์ปกติ
             - ส่วนความอิจฉาในระดับรุนแรง เช่น อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ มีพฤติกรรมถดถอย หรือถึงขั้นแกล้งน้อง ทำร้ายน้อง ถือเป็นความอิจฉาที่อันตราย แต่คุณแม่อย่าเพิ่งตื่นตกใจ เพราะสามารถแก้ไขด้วยการให้เวลาพูดคุย ทำความเข้าใจ และเอาใจใส่ลูกให้มากขึ้นได้
  
ตั้งแต่ตั้งท้อง
เตรียมใจลูก..พร้อมรับน้องใหม่
             การอธิบายให้ลูกเข้าใจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โดยใช้คำพูดง่ายๆ บอกเล่าว่า “ตอนนี้ในท้องแม่มีน้องตัวเล็กๆ เหมือนหนูที่เคยอยู่ในท้องแม่ เดี๋ยวน้องจะโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะออกมาเหมือนหนูไง” หารูปภาพเขาสมัยยังแบเบาะมาให้เขาดู หรือลองหาหนังสือภาพเกี่ยวกับแม่ท้อง มีน้องใหม่ อ่านให้เขาฟัง หมั่นให้เขาลูบท้อง ฟังเสียงและพูดคุยกับน้องน้อย ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยให้ลูกรู้ว่าอีกไม่นานน้องจะมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
 
 
เตรียมผู้ช่วยแต่เนิ่นๆ
             หากได้วางแผนการไว้แล้วว่าจะมีผู้ช่วย เช่น คุณย่าคุณยาย หรือพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลคนโต ก็ควรให้เข้ามาตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์เลยจะดีกว่าหลังคลอด ตัวช่วยนี้จะได้คอยช่วยเหลือคุณแม่ที่เริ่มทำอะไรไม่สะดวก และทำความคุ้ยเคยกับลูกไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเด็กวัยนี้ การเชื่อมโยงเหตุผลและเวลายังไม่สมบูรณ์ ลูกจะเข้าใจว่าเพราะน้องมา เขาจึงต้องห่างจากแม่ไปอยู่กับพี่เลี้ยง และเกิดพฤติกรรมต่อต้านน้องได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ยืนยันในความรัก
             อย่าลืมบอกลูกด้วยว่าถึงแม่จะไม่ได้อุ้มหนู แต่เราก็ยังกอดกัน เดินจูงมือกันได้ แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะเข้าใจทั้งหมด เพราะวัยนี้ยังต้องการความสนใจจากแม่อยู่มาก ถ้าลูกงอแงอยากให้อุ้ม อยากเล่นด้วย แต่คุณแม่ทำไม่ไหวแล้ว ก็ลองหากิจกรรมเบาๆ เช่น นั่งเล่นของเล่น หรืออ่านนิทานข้างๆ กัน ก็จะช่วยสื่อให้ลูกรู้ว่า คุณแม่ยังรักเขาเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
 
วันคลอด
บอกลูกให้รู้ล่วงหน้า
             ว่าคุณแม่จะไปคลอดน้องที่โรงพยาบาล เดี๋ยวก็กลับมาแล้ว มิฉะนั้นเมื่อลูกไม่รู้ว่าแม่หายไปไหน จะรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจได้ หากคุณพ่อต้องไปให้กำลังใจคุณแม่ด้วย ผู้ช่วยที่เราได้เตรียมสร้างความคุ้นเคยกับลูกมาตั้งแต่ตอนแรกๆ จะเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ทั้งลูกและคุณแม่สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างราบรื่น
 
หาช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกให้เร็วที่สุด
             หากสามารถพาเจ้าจอมซนไปเยี่ยมคุณแม่และน้องน้อยที่โรงพยาบาลหลังคลอดได้จะดีมาก แต่โรงพยาบาลหลายแห่งไม่อนุญาตให้เด็กเล็กๆ เข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ คุณแม่อาจใช้วิธีถ่ายวีดีโอ หรือโทรศัพท์กลับมาหา สื่อสารให้ลูกรู้ว่าถึงแม่จะไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ทำกิจกรรมด้วยไม่ได้ แต่แม่ก็สบายดี ยังรักและห่วงเขาเหมือนเดิม
 
วันแรกที่กลับบ้าน
             แม้จะเหนื่อยหรืออ่อนเพลียสักเพียงไหน สิ่งแรกที่คุณแม่ควรทำเมื่อพาน้องน้อยเข้าบ้าน คือการเข้ามาหา โอบกอดและพูดคุยให้ลูกรู้ว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ยังรักเขาเหมือนเดิม จึงจะสามารถทำความรู้จักกับน้องใหม่ได้โดยไม่มีอาการต่อต้าน
 
หลังคลอด
ทุกฝ่ายต่างต้องมีการปรับตัว
             การมีพี่เลี้ยงเข้ามาช่วยดูแลลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะช่วยลดความเครียดของคุณแม่ไปได้บ้าง  แต่อย่าถึงกับยกหน้าที่สำคัญนี้ให้พี่เลี้ยงไปทั้งหมด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าน้องมาแย่งความรักของแม่
ไปจากเขา อย่าลืมหาเวลาทำกิจกรรมสำหรับวัยเตาะแตะ
 
ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง
             เจ้าตัวเล็ก เขารับรู้ว่าในท้องแม่มีน้อง แต่ก็ยังเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา ถ้าคุณแม่ปฏิบัติเหมือนเขาเป็นตัวช่วย ใช้หยิบของให้น้องอีก เขาก็จะยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องมาดูแลเด็กคนนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อน้องได้ ควรเริ่มสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องก่อน โดยสื่อผ่านพ่อแม่ อาจเริ่มจากการหอมแก้ม บอกรักลูกคนโตก่อน จากนั้นก็ให้เขาลองหอมแก้มน้อง ค่อยๆ เชื่อมโยงความรักของลูกที่มีให้พ่อแม่ ส่งไปถึงน้องทีละน้อย แสดงให้ลูกเห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความสำคัญ มีส่วนช่วยพ่อแม่ดูแลน้องได้มาก เมื่อลูกรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ก็จะรักน้องและภูมิใจในความเป็นพี่ของตนได้
 
ถือโอกาสฝึกความเสียสละอดทนรอคอยให้ลูกวัยเตาะแตะ
             สิ่งเหล่านี้เด็กจะเรียนรู้ได้เองบางส่วนเมื่อเกิดสถานการณ์บังคับ เช่น เวลาที่แม่กำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องอยู่ แต่เขาอยากเล่นด้วย ก็จะรับรู้ว่าต้องรอได้ และหากลูกรอได้สำเร็จ แล้วคุณแม่มีเวลามาพูดชมว่า ลูกเก่งมากที่รอได้ หนูน่ารักมากเลยนะ ฯลฯ คำชมเหล่านี้จะเป็นแรงเสริมที่ทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ
            
   
หลีกเลี่ยงคำพูดกระทบใจลูก
             ช่วงเวลาหลังคลอดอาจมีบรรดาญาติๆ มาเยี่ยมต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว อาจมีคำพูดล้อเล่น เช่น หมาหัวเน่า แม่มีน้องใหม่แล้ว แต่คุณแม่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะผู้พูดเป็นผู้ใหญ่ ไม่กล้าห้ามเพราะเกรงใจ คุณหมอได้อธิบายว่า คำพูดเหล่านี้จะมีผลกับลูกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ
             1. พื้นฐานอารมณ์ของเด็กเอง ถ้าเป็นเด็กที่เลี้ยงยาก คิดมาก วิตกกังวลง่ายมาก่อน แล้วคุณแม่ไม่ได้มีการเตรียมสภาพจิตใจเขาให้พร้อมตั้งแต่ช่วงแรก อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีได้
             2. ร่วมกับการแสดงออกโดยไม่ได้ตั้งใจของพ่อแม่ เช่น ใช้ให้ลูกหยิบของให้น้องทั้งๆ ที่เขากำลังเล่นสนุกอยู่ หรือต่อว่าที่เขาเล่นกับน้องแรงไปหน่อย เด็กจะรู้สึกว่าพอมีน้องชีวิตเขาลำบาก และถูกพ่อแม่ดุบ่อยขึ้น รู้สึกไม่ดี หากมีคนพูดสะกิดเพียงนิดเดียว ลูกอาจคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก เลยพาลไม่ชอบน้อง ซึ่งความไม่ชอบนี้อาจยังไม่ลึกซึ้งนัก แต่จะสะสมเป็นปมในใจไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นปัญหาพี่น้องไม่รักกันในอนาคตได้ ดังนั้นหากได้ยินคำพูดล้อเล่นนี้ แล้วคุณแม่แสดงท่าทีที่ช่วยสร้างความมั่นใจ ให้ลูกรู้ว่ายังรักเขาเหมือนเดิม ต่อให้มีคนพูดอะไร ลูกก็จะไม่รู้สึกจริงจังกับคำพูดเหล่านั้น