ทำไมลูกต้องดูดนิ้ว
ทำไม ลูกต้องดูดนิ้ว
             นิ้วโป้งไม่ใช่ขนม แต่ทำไมเด็กๆ หลายคนถึงได้ขยันเอาเข้าปากอยู่เรื่อย แล้วเจ้านิ้วโป้งน้อยๆ ก็ช่างเป็นอวัยวะที่พอเหมาะพอดีกับการใส่ปากดูดเล่นเสียจริง บางคนหมั่นเขี้ยวหน่อยก็ถึงขั้นกัดแทะเล็บเล่น บางคนก็ติดการดูดผ้า เพลินใจอย่าบอกใครเชียว หากเกิดคำถามว่าควรจะห้ามลูก หรือปล่อยให้เขา

ดูดไปเรื่อยๆ ดี และอาการแบบไหนที่ไม่ควรนิ่งนอนใจแล้ว

แม่รู้ไหมทำไมหนูติดนิ้ว
             การดูดนิ้ว ดูดผ้า ถือเป็นขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพอีกขั้นหนึ่ง ที่เด็กๆ จะรู้สึกพึงพอใจกับการใช้ปากสร้างความสุข ซึ่งจะอยู่ในช่วงแรกเกิดถึง 18 เดือน เด็กในวัยขวบปีแรกจะติดดูดนิ้วมือก่อนนอนเพื่อเป็นเพื่อนช่วยกล่อมจิตใจ บางคนอาจติดดูดผ้า หรือบางคนก็อาจดูดนิ้วเท้าด้วย ก็ถือว่าเป็นการกล่อมตัวเองเช่นกัน ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย สบาย และนอนหลับได้นานขึ้น ร่างกายมีการเจริญเติบโตเต็มที่สมบูรณ์ ลูกจะดูดนิ้วเมื่อเขาหิว ง่วงนอน เบื่อหน่าย หรืออารมณ์ไม่ดี เป็นการลดความกระวนกระวายใจ ทำให้รู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง
             แต่ในบางกรณี เด็กดูดนิ้วเพราะได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก มีสถานการณ์ที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจ เช่น ย้ายบ้าน เปลี่ยนพี่เลี้ยง ห่างแม่ มีน้อง ฯลฯ ซึ่งเด็กโตบางคนก็อาจแสดงออกด้วยพฤติกรรมการกัดเล็บ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจเขาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่า เวลานี้ลูกต้องการให้พ่อแม่หันมาสนใจเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอนสนองทางด้านการห้าม ดุว่า หรือแม้การล้อเลียน ก็ถือว่าเขาได้รับความสนใจมากขึ้นแล้ว เด็กๆ ส่วนใหญ่จะเลิกดูดนิ้วได้เองเมื่ออายุ 6 ปี หรือบางคนอาจนานถึง 7 ปีก็ได้
   
 
ปัญหาที่ตามมา
             ·  ปัญหาสุขภาพฟัน เพราะหลังจาก 5 ปีแล้วฟันแท้จะเริ่มขึ้น การดูดนิ้วมากๆ จะกดให้ฟันหน้าโย้ออกมา มีช่องว่างระหว่างฟันบนและฟันล่าง ทำให้การสบฟันผิดปกติ เกิดปัญหาการกัดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด พูดออกเสียงไม่ชัดเจน และปัญหาบุคลิกภาพในภายหลังได้
             ·  นิ้วโป้งไม่สวย เหี่ยวซีด ลีบแบน
             ·  ปัญหาพัฒนาการทางสังคม เพราะการดูดนิ้วมากๆ จะทำให้ลูกไม่มีโอกาสพูดคุยกับคนอื่นๆ ขาดการสื่อสาร อาจถูกมองจากคนภายนอกว่าเป็นเด็กไม่รู้จักโต ทำให้ลูกถูกล้อเลียนได้
             ·  ปัญหาเรื่องการติดเชื้อโรคจากนิ้ว เพราะถ้ารักษาความสะอาดไม่ดี แล้วเอาเข้าปากบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินอาหารได้
 
แบบไหนเรียกว่าผิดปกติแล้ว
             ·  ลูกดูดนิ้วจนนิ้วเปื่อยหงิกงอ ผิดรูปร่างไปมาก
             ·  ดูดนิ้วบ่อยจนกระทั่งไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ เพราะมีนิ้วหรือผ้าอยู่ในปากตลอดเวลา
             ·  อายุมากกว่า 6 ขวบแล้วยังไม่เลิกดูดนิ้ว เพราะถือว่าควรจะก้าวข้ามพัฒนาการขั้นเติมความสุขโดยใช้ปากไปได้แล้ว
             ·  ลูกติดดูดนิ้วตลอดเวลา เหมือนเป็นเด็กที่อยู่เฉยไม่ได้เลย ต้องมีสิ่งกระตุ้น จึงเอานิ้วเข้าปากดูดเพื่อกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา สงสัยว่าอาจเป็นกลุ่มไฮเปอร์สมาธิสั้นหรือเปล่า ควรไปพบแพทย์พัฒนาการเด็กเพื่อตรวจดูอาการ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยพิจารณาจากอาการอื่นร่วมด้วย
 
บทบาทของพ่อแม่
             ปัญหานี้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพัฒนาการด้านจิตใจ และความมั่นคงทางอารมณ์ของลูก ต้อง
อาศัยความพร้อม และความสมัครใจของลูกเอง จึงจะหายได้ ดังนั้นเมื่อเห็นลูกเอานิ้วเข้าปากดูด หรือกัดเล็บดูดผ้า ก็อย่าเพิ่งไปดุว่าหรือห้ามเขาทันที เพราะจะเป็นการสร้างความเครียดให้ลูกมากยิ่งขึ้น
             ·  รักษาความสะอาดของเล็บและนิ้วลูก หมั่นตัดเล็บให้สั้น สอนให้รู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้อง รวมไปถึงกลุ่มเด็กติดดูดผ้าที่ต้องหมั่นรักษาความสะอาด ซักและผึ่งแดดให้แห้งเสมอ
             ·  หากพบว่าช่วงที่ลูกติดดูดนิ้วมากๆ ตรงกับช่วงเวลาที่ลูกต้องพบกับสถานการณ์ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น เช่น การมีน้องใหม่ การย้ายบ้าน หรือเผชิญกับความเครียด แม้เพียงเรื่องเล็กน้อย แต่อาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับลูก หาทางพูดคุยถามว่าลูกมีเรื่องอะไรไม่สบายใจ ช่วยคลายความกังวลเขาด้วยความอ่อนโยน
             ·  ช่วยลดความขี้กังวล ขี้อายด้วยการค่อยๆ สร้างเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้ลูก ให้ลูกลองทำอะไรด้วยตนเอง และให้การชมเชยเมื่อลูกทำได้สำเร็จ ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นมาจะช่วยลดการดูดนิ้วแก้เขินได้
             ·  ไม่ควรปล่อยให้ลูกชินกับพฤติกรรมการดูดนิ้วเพราะมือว่างไม่มีอะไรทำ แก้ไขด้วยการให้ความใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น หากิจกรรมที่น่าสนุกและทำให้มือไม่ว่าง เช่น เอาของเล่นให้ถือ ทำแป้งโดว์ปลอดสารพิษปั้นเล่นกันที่บ้าน เมื่อลูกมีเพื่อนเล่นและมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ก็จะลืมการดูดนิ้วไปได้