เมื่อลูกรักอัพเกรด

 

                เด็กๆ เติบโตขึ้นทุกวัน เมื่อลูกผ่านขวบวัยที่หนึ่ง ลูกเล็กๆ ที่นอน ยุกๆ ยิกๆ คลานขยุกขยิก ของเรา ก็มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากขึ้นตามที่ตัวเองต้องการ เรียกได้ว่า ลูกรักของเราอัพเกรดจากเด็กทารกน้อยๆ มาเป็นเด็กวัยเตาะแตะ เริ่มแสดงความเป็นตัวของมากขึ้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทุกด้านจะเกิดขึ้นกับลูกเมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยเตาะแตะ
            สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าลูกเปลี่ยนแปลงก็คือ
ด้านร่างกาย เด็กช่วง 1 – 2 ขวบจะสูงขึ้นเฉลี่ย 13 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3 กิโลกรัม เมื่ออายุประมาณ 2 – 3 ขวบ ลูกจะสูงขึ้น 5 – 8 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัม แม้ว่าลูกจะตัวหนักขึ้นและดูโตขึ้น แต่เมื่อเทียบอัตราความเจริญเติบโตแล้ว เด็กวัยนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่าเด็กในวัยทารก ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากทราบว่า ลูกจะมีความสูงเท่าไหร่เมื่อโตขึ้น ให้ลองใช้สูตรนี้คำนวณดูเมื่อลูกอายุ 3 ขวบ นะคะ ถ้าลูกเป็นผู้ชายให้เอาส่วนสูงของลูกคูณด้วย 1.87 หากลูกเป็นผู้หญิงให้คูณด้วย 1.73 แค่นี้เราพ่อๆ แม่ๆ ก็จะทราบส่วนสูงคร่าวๆ ของลูก
 
ฟันน้ำมนของลูกจะเริ่มขึ้นในวัยนี้ โดยจะเริ่มจากฟันหน้าซี่กลาง ต่อด้วยฟันหน้าซี่ข้าง ฟันเขี้ยวและฟันกรามจะงอกขึ้นในลำดับต่อมา เมื่อลูกอายุ 3 ขวบ ฟันน้ำมนก็จะขึ้นครบ 20 ซี่ และเมื่อลูกอายุ 6 ขวบ ฟันน้ำมันก็จะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยฟันแท้
 
ด้านการเคลื่อนไหว  จากการที่ลูกนอนเล่นดุกดิกๆ ลูกก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เริ่มคลาน เดินและยืนได้ เมื่อลูกอายุประมาณ 1 ขวบ ลูกจะเริ่มดันตัวเองให้ยืนขึ้น ด้วยการเกาะสิ่งของต่างๆ และเมื่ออายุขวบครึ่งลูกก็จะสามารถเดินถือของไปไหนมาไหนได้ แต่ว่าการเดินนั้นก็จะยังไม่ค่อยมั่นคงจนกระทั่งลูกอายุ 2 ขวบ พอถึง 3 ขวบลูกก็จะทำการเคลื่อนไหวที่ยากๆ ได้เช่น โดยบอล เดินอย่างมั่นคง หรือยืนได้ด้วยขาข้างเดียว
 
 
ด้านการสื่อสาร เด็กบางคนส่งเสียอ้อๆ แอ้ๆ หรือเสียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เสียงร้องไห้ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะสามารถพูด หรือออกเสียงเป็นคำ ได้ก่อนที่จะมีอายุครบ 1 ขวบ เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ขวบ ก็จะพูดได้ประมาณ 6 คำ อายุครบ 2 ขวบ ลูกก็สามารถเรียนรู้และเก็บรวบรวมคำศัพท์ได้เป็นร้อยๆ คำ และเมื่อ 3 ขวบ ลูกก็จะสามารถสื่อสารเป็นประโยคที่ครบสมบูรณ์ได้   
 
ด้านการอารมณ์ ลูกน้อยของเราจะเริ่มต้องการความเป็นอิสระ ไม่ต้องการพึ่งใคร  ขณะเดียวกันเด็กวัยนี้เป็นวัยเริ่มเรียนรู้ เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งที่ตัวเขาเองเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง บวกกับข้อจำกัดในการสื่อสารและพัฒนาการทางร่างกายที่มันมักจะไม่ได้อย่างใจเจ้าตัวเล็ก มักทำให้ลูกน้อยหงุดหงิด งอแง
 
เด็กวัยนี้ควรได้รับการสนับสนุนให้เข้าสังคมหรือเล่นกับเพื่อนๆ เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม เมื่อลูกเริ่มเข้าสังคม เขาอาจจะยังไม่คุ้นเคย ไม่รู้จักแบ่งปัน แต่ถ้าลูกได้รับการฝึกอบย่างเหมาะสม ลูกจะแสดงทักษะทางสังคมให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้เมื่อลูกอายุ 3 ขวบ
 พัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของลูกนั้น เป็นผลมาจากการอบรม แนะนำ และสั่งสอนของคุณพ่อคุณแม่โดยตรง ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกมีพัฒนาการด้านนี้อย่างเหมาะสม พ่อแม่ต้องให้เวลาในการดูแลลูกอย่างเพียงพอ ในขณะเดียวกันเวลาที่ให้นั้นก็ต้องมีคุณภาพด้วย