5 ข้อคิด พิชิตปัญหาเรื่องกิน
 
ข้อคิด บทที่ 1 เมื่อลูกอมข้าว
การที่ลูกชอบอมข้าว แสดงว่าลูกเบื่อ ไม่หิว แล้วก็ต่อต้านวิธีการต่างๆนานที่พ่อแม่บีบบังคับ หรือใช้เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ และการฝึกลูกไม่ถูกวิธีก็ทำให้ลูกชอบอมข้าวได้ เช่น ไม่ยอมให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ขาดแบบอย่างที่ดีในการกิน เช่น พ่อแม่ลูกกินข้าวกันคนละเวลา บรรยากาศในการกินไม่ดี และขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งถูกตัดกำลัง โดยได้กินขนม อาหารอื่นๆระหว่างมื้อ จนไม่หิวเมื่อถึงเวลาอาหาร
 
อมข้าวได้ ก็แก้ไขได้
·        เข้าใจความรู้สึกของลูกว่าลูกไม่หิว เมื่อถูกบังคับให้กิน ลูกจะลำบากใจขนาดไหน ครั้นจะขัดขวาง ไม่ยอมแม่ เดี๋ยวแม่ก็จะไม่รัก แต่จะกล้ำกลืนฝืนกินเข้าไปในขณะที่ยังไม่หิว ก็จะอึดอัดและทรมาน ดังนั้นเมื่อลูกเริ่มอมข้าว ก็แสดงว่าลูกอิ่ม อยากให้หยุดป้อน หรือหยุดตื้อให้ลูกกิน คุณแม่ควรหยุดไปก่อนค่ะ
·        เปลี่ยนวิธีการให้อาหาร โดยเฉพาะวัย 1-5 ปี เป็น
 
ช่วงที่เด็กเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด อยากทำอะไรเอง ต้องการที่จะเลียนแบบ และทดลองทำอะไรด้วยตัวเอง ดังนั้นพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการกิน ถึงเวลากินให้กิน ไม่อ้อยอิ่ง ฝึกลูกให้รู้จักการกินที่เหมาะสม โดยให้ลูกช่วยเหลือตัวเองเรื่องกิน ป้อนข้าวเอง ตักข้าวเอง หรืออื่นๆให้เร็วที่สุดตั้งแต่อายุ 1 ปี
·        ไม่ควรใช้วิธีปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น โดยมีพี่เลี้ยงคอยตามป้อนเวลาเผลอ หรือแม่คอยตามตื้อ เปิดทีวีล่อให้ลูกหัวเราะแล้วป้อน หรือบังคับให้ลูกนั่งข้างตัวแล้วบีบปาก ตักอาหารเข้าปาก สั่งให้เคี้ยวบังคับให้กลืน โดยไม่สนใจกับความรู้สึกของลูก หรือการใช้วิธีชงนมทิ้งไว้ให้ เหมือนบอกไปในตัวว่า กินข้าวนิดหน่อยไม่เป็นไร ยังมีนมแทน เหล่านี้ไม่ถูกต้องค่ะ
 
ข้อคิด บทที่ 2 เมื่อลูกเบื่ออาหาร
เด็กมักเบื่ออาหารได้ทุกคน ยิ่งถ้าถูกเลี้ยงดูไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ได้ฝึกให้กินอาหารหยาบขึ้นเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม เช่น ช่วงที่ฟันกำลังขึ้น 6 เดือนขึ้นไป หรือถูกบังคับให้กิน ทำให้เกิดการต่อต้าน ถูกยอมให้ดูทีวีไปกินไปจนรู้สึกไม่สนใจอาหาร หรือติดนิสัยต้องคอยตามป้อนไปเรื่อย หรือให้อาหารไม่เป็นเวลา อาหารซ้ำซาก น่าเบื่อ แต่บางครั้งที่ลูกไม่กินข้าว เบื่ออาหาร เพราะไม่สบาย เช่น เจ็บเหงือก ปวดฟันได้เช่นกัน
 
เบื่ออาหารได้ ก็แก้ไขได้
·        ก่อนอื่นต้องเข้าใจพัฒนาการและการให้อาหารเสริมที่เหมาะตามวัยของลูก เช่น ไม่ต้องบดอาหาร หรือปั่นละเอียดเมื่อเริ่มมีฟันขึ้น แต่ให้อาหารแข็งๆแก้อาการคันเหงือก เช่น ฝรั่งหรือมะม่วงเกือบสุกหั่นชิ้น
·        เน้นให้อาหารที่มีคุณค่า และให้พลังงานสูง เช่น อาหารพวกโปรตีน ไข่ เนื้อสัตว์ นม รวมทั้งอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง และตักให้ลูกแต่พอดี ไม่มากไป น้อยไป
·        ยอมให้ลูกตักข้าวกินเอง โดยยอมให้หกเลอะเทอะกันบ้าง เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เรื่องกินที่ดีของลูก
·        สร้างบรรยากาศที่เหมาะสม โดยให้ลูกร่วมโต๊ะอาหารพร้อมพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการกิน เช่น กินผักให้ลูกเห็น ลูกจะได้เรียนรู้และปรับตัวให้กินผักได้ และให้ลูกรู้จักเลือกกินอาหารเอง
·        กำหนดเวลาอาหารในแต่ละมื้อ ไม่ควรเกิน 30-45 นาที โดยให้กินร่วมกับพ่อแม่ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการกินที่เหมาะสม และขณะกินข้าวไม่ควรมีสิ่งที่จะมาเบี่ยงเบนความสนใจ กินเสร็จจึงค่อยให้เล่น
·        เปลี่ยนรูปแบบอาหารให้มีสีสันต่างๆ ปัจจุบันมีเมนูที่ทำง่าย และพ่อแม่ลูกก็ทำกิจกรรมนี้ร่วมกันได้
·        แต่ถ้าลูกมีปัญหากินน้อยลงกว่าเดิม หรือน้ำหนักไม่ขึ้น อาจต้องปรึกษาแพทย์
 
ข้อคิด บทที่ 3 ติดนมขวด
เด็กที่ติดนมขวดมักเกิดจากพ่อแม่ใจอ่อน ยอมเมื่อลูกร้องขอนมขวด แถมยังปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร เพราะลูกกินอาหารได้น้อย ก็น่าจะให้นมเสริม เลยทำให้ลูกติดนมขวด ไม่ยอมกินอาหารอื่นๆ หรือพ่อแม่ยังให้ความสำคัญกับนมอยู่มากเกินไป โดยเฉพาะนมระหว่างมื้ออาหาร ประกอบกับไม่เคยถูกฝึกให้กินข้าว  อาหาร ด้วยตนเองเมื่อไม่เคยกินข้าว อาหารจากช้อนด้วยตนเองก็ทำให้การพัฒนาการด้านนี้ช้าไป  ประกอบกับถ้าอายุมากขึ้นเด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นจะดื้อ ไม่ยอมทำตามคำสั่ง
 
ติดนมขวดได้ ก็แก้ไขได้
1- 1 ½ ปี ถ้าเลิกช้ากว่านี้ จะแก้ไขได้ยากเพราะลูกจะติด เคยชินกับการนอนดูดนมแบบสบายๆ ไม่มีใครมากวน
·        ให้ลูกเลิกกินนมขวดโดยเด็ดขาด แต่ฝึกให้ดื่มจากแก้วแทนค่ะ อายุที่ควรเลิกกินนมขวด คือ
·        ถ้าเลิกกินนมจากขวดช้าไปแล้ว พ่อแม่ต้องใช้ความพยายามมากหน่อย แล้วต้องทำใจแข็งให้มากในการให้ลูกเลิกกินนมจากขวด เพราะลูกจะร้องไห้เป็นการใหญ่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองจะกินนมจากขวดอีก
·        ให้อาหารในเวลาที่ลูกหิวจริงๆ ถ้าลูกไม่หิว พ่อแม่ก็แทบจะทำให้ลูกกินอาหารที่ต้องการได้ยาก ดังนั้นควรนำความหิวมาแก้ไขปัญหา โดยหยุดการให้นมระหว่างมื้อ แล้วนำอาหารที่มีคุณค่ามาให้ลูกกินแทน
·        เลือกอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ให้ลูกกิน เด็กที่กินแต่นมขวด ไม่ยอมกินข้าว ร่างกายก็ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน แถมพลังงานจากนมก็ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของลูก แล้วยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของสูงนาน ทำให้ลูกไม่หิว  ทั้งๆที่พลังงานที่ได้จากสารอาหารไม่พอ แถมยังมีปัญหาฟันผุจากการกินนมจากขวด โดยจะผุบริเวณคอฟันและเป็นหลายๆซี่ด้วยค่ะ
 
ข้อคิด บทที่ 4 ไม่ชอบกินผัก
เมื่อน้องตะวัน ไม่ชอบกินผัก
การที่ลูกไม่ชอบกินผักก็มักมีสาเหตุมาจากพ่อแม่ไม่ชอบกินผักด้วยเหมือนกัน อาหารที่บ้านมักไม่ค่อยมีผักติดครัวให้ลูกเห็น ครั้นจะบอกให้ลูกกินผักทั้งที่พ่อแม่ไม่กิน ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ลูกไม่ยอมแน่ ดังนั้นพ่อแม่ต้องหันมาปรับตัวให้เป็นคนกินผักจนติดเป็นนิสัยให้ได้ก่อน ลูกจะได้กินผักเลียนแบบตามไปด้วย
 
ไม่ชอบกินผัก แก้ไขได้
·        ก่อนอื่นต้องรู้จักเลือกผักให้ลูกอย่างเหมาะสมกับวัย ครั้งแรกที่เริ่มให้ควรเป็นผักนิ่มๆ ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวก่อน เช่น ฟักต้ม ผักโขม ผักกาดขาว แครอท ฟักทอง ถั่วฝักยาว ต้มเปื่อย ใส่ในอาหารให้ลูกเคยชิน หรือจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ลูกหยิบกินเองก็ได้ ลูกจะได้มีส่วนเลือกผักได้ด้วยตัวเอง
·        ยกตัวอย่างฮี่โร่ในดวงใจ เช่น ป๊อปอาย ให้ลูกรู้ว่าเขาแข็งแรง สู้ได้ไม่มีถอย เพราะกินผัก เมื่อใดที่ไม่กินก็ขาดพลัง ถือโอกาสสอนลูกเมื่อเห็นว่าลูกวิ่งแล้วเหนื่อยหอบ หรืออ่อนแอว่าที่เหนื่อยแบบนี้เป็น
เพราะลูกไม่ได้กินผักเหมือนป๊อปอาย จะทำให้ลูกกินได้เอง ถึงยังไม่กินในมื้อนี้ ก็อาจยอมกินผักในมื้อต่อไป
·        ให้ลูกคุ้นเคยกับผักอยู่เสมอตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะช่วงวัยกำลังซนที่เริ่มคลาน หยิบจับของ ก็ให้เปลี่ยนจากของเล่นให้เป็นผักสดที่สะอาดหลายชนิดให้อยู่รอบตัว เช่น ถั่วฟักยาว ข้าวโพดอ่อน ฟักทองแท่ง แครอต เด็กส่วนมากหยิบได้ก็มักใส่ปากกัด เคี้ยวทันที ทำให้ลูกคุ้นเคยกับผัก ชอบกินผักได้ แถมยังเห็นผักเป็นเรื่องธรรมดาไม่สามารถหยิบกินได้ ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรือไม่อร่อยอีกต่อไป
·        เปลี่ยนเมนูไม่ให้จำเจ หรือเปลี่ยนความคิด เช่น ลูกไม่ชอบกินข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว แทนที่จะผัดให้เห็นเป็นรูปร่างผัก ก็นำมาชุบแป้งทอด แล้วตั้งชื่อให้ดูน่าตื่นเต้น เช่น ถั่วใส่เสื้อเกราะ นางฟ้าแครอตหรือนำผักที่ลูกไม่ชอบมาแปลงโฉมใหม่ เช่น แกะสลักเป็นตัวการ์ตูนที่ลูกชื่นชอบ เป็นต้น
 
ข้อคิด บทที่ 5 ลูกกินยาก
เด็กมักกินยากมีหลายสาเหตุ ทั้งจากการเลียนแบบพฤติกรรม คือ มีคนกินข้าวยากอยู่ในบ้าน หรือไม่หิวเนื่องจากมีการนำอาหารอื่น เช่น นม หรืออาหารว่างมาให้กินก่อนเวลาอาหาร ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม หรืออยากเรียกร้องความสนใจ ไม่ได้รับ
ความสนใจจากพ่อแม่เท่าที่ควร ลูกก็จะไม่ยอมกินเพื่อเก็นการแสดงออกว่าบ้านหลังนี้ก็ยังมีหนูคนนี้อยู่ด้วยอีกคนนะ
 
กินยาก แก้ไขได้
·        ให้เวลากับลูก พูดคุยถามไถ่ความรู้สึกของลูกบ้าง เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่รักและสนใจลูกเสมอ
·        ให้ลูกได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสนุกๆที่ใช้พลังด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายลูกแข็งแรงแล้ว ทำให้สัมพันธภาพของพ่อแม่ลูกดีขึ้น หลังการเล่นยังทำให้ลูกเกิดความหิว ทำให้กินได้ง่ายขึ้นด้วย
·        สร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะอาหาร เช่น ให้ลูกได้กินข้าวพร้อมหน้าพ่อแม่ ให้ลูกได้เห็นพ่อแม่หรือคนอื่นมาร่วมวงกินข้าว แล้วกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย หรือให้ลูกได้ตักอาหารเองบ้าง จะได้ทำให้ลูกกินได้ดี
·        สนับสนุนให้ลูกตั้งวงกินข้าวพร้อมเพื่อนวัยเดียวกันบ้าง ลูกจะได้รู้สึกสนุก และกินอาหารได้มากขึ้น
·        ให้ลูกรับผิดชอบการกิน และให้ช่วยตัวเองมากที่สุด เช่น หยิบจานมาให้แม่ตักอาหารให้ หรือตักกับข้าวกินเอง และให้โอกาสเลือกตักอาหารที่มีอยู่บนโต๊ะอาหารมาใส่จานกินเอง
·        ยอมรับปริมาณอาหารที่ลูกกิน ถ้าลูกตักกินน้อยก็อย่าได้กังวลใจ แต่ควรลดปริมาณนมระหว่างมื้ออาหารลง โดยเฉพาะนมหลังอาหารควรเลิกไปเลยจะดีกว่าค่ะ

เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ที่จะกะปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อเอง เช่น ตักข้าวเท่านี้ ตักกับข้าวเท่านั้นพอ หรืออื่นๆ ตามความต้องการ เพื่อช่วยให้ลูกเกิดรู้สึกดีต่อการกินที่เป็นอิสระของตัวเอง เป็นต้น