NATUR ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาเช็กอาการสำคัญและการเปลี่ยนแปลงในช่วง 15-28 สัปดาห์แรกนั้น รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ช่วง 4-6 เดือนแรกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง พร้อมเช็กสุขภาพและอาการของคุณแม่ให้พร้อมรับเบบี๋ตัวน้อยกัน!
- น้ำหนักขึ้นหุ่นเริ่มเปลี่ยน
คุณแม่จะรู้ตัวแล้วว่าน้ำหนักเริ่มขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ยกเว้นกรณีแพ้ท้องมาก ๆ น้ำหนักอาจขึ้นมาช้าหน่อย น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น จะสัมพันธ์กับขนาดของหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น และรอบเอวคุณแม่ที่หนาขึ้น โดยระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายคุณแม่ที่หล่อเลี้ยงลูกในครรภ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วย
- สีผิวเปลี่ยน
เห็นเส้นดำกลางท้องสีผิวของคุณแม่จะเริ่มคล้ำขึ้น โดยเฉพาะบริเวณรักแร้หรือซอกขาซอกแขน ขาหนีบ เริ่มเห็นเส้นดำกลางหน้าท้องที่เกิดจากฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ โดยสีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น และเส้นสีดำนี้จะจางลงได้เองหลังคลอด นอกจากสีผิวที่คล้ำขึ้น หัวนมคุณแม่ก็จะมีสีเข้มและมีขนาดเต้านมใหญ่ขึ้นด้วย
- ท้องลาย
จากการขยายตัวของผิวหนังหน้าท้องร่วมกับผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น ควรป้องกันด้วยการทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้น เลือกชนิดที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีรุนแรงและหมั่นทาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ทุกวัน
“ระมัดระวังการล้ม! เพราะเมื่อขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้น ศูนย์ถ่วงร่างกายเปลี่ยนไปทำให้ทรงตัวไม่อยู่”
- ท้องผูก
เกิดได้จากหลายสาเหตุขณะตั้งครรภ์ ทั้งจากฮอร์โมนที่ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวช้า มดลูกขยายไปกดทับลำไส้ กินน้ำน้อย กินอาหารที่มีใยอาหารน้อย ทำให้คุณแม่มีอาการท้องผูกได้
- แม่ท้อง ป้องกันท้องผูก!
ด้วยการกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้มาก ออกกำลังกายด้วยการเดินหรือบริหารร่างกายเบา ๆ วันละ 20-30 นาที จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ของคุณแม่ทำงานได้ดีขึ้นในกรณีที่คุณแม่กินยาธาตุเหล็กชนิดเม็ดร่วมด้วยก็อาจพบผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกได้หากท้องผูกควรแจ้งแพทย์เพื่อดูแลและอาจปรับเปลี่ยนชนิดของวิตามินให้เหมาะสม
- ปวดชายโครง เสียดท้องน้อย
ด้วยขนาดของลูกน้อยที่เติบโตขึ้น เวลาลูกดิ้นหรือขยับตัวจะทำให้มดลูกเคลื่อนไหวไปทับกระเพาะอาหารมีอาการแสบร้อน
กลางอกและรู้สึกเสียดชายโครงได้
- เท้าบวม เท้าขยายใหญ่
อาจมีอาการบวมตามข้อหรือเท้าได้ ซึ่งอาการเท้าบวมหลังคลอดจะหายไป แต่เท้าที่ขยายใหญ่แล้วจะไม่กลับมาเท่าเดิม ดังนั้นคุณแม่จึงต้องเปลี่ยนขนาดรองเท้า ใส่รองเท้าส้นเตี้ยที่เดินสบาย ป้องกันการเดินสะดุดหรือล้ม ยกเว้นกรณีที่สังเกตว่าเท้าบวมมาก อาจปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่ทำให้เท้าบวมเช่น ครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ
- เป็นตะคริว
คืออาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา หรือปลายเท้ามักจะเป็นบ่อย ๆ เวลากลางคืนเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบรรเทาด้วย การกระดกปลายเท้าขึ้นให้กล้ามเนื้อคลายตัวออกดื่มน้ำและกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เป็นตะคริวนั้นส่วนหนึ่งมาจากการขาดน้ำและแคลเซียมด้วย
“ก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว อาการเหนื่อยล้า และอ่อนเพลียค่อย ๆ จางไปอารมณ์ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอยากจะทำอะไร อยากจะกินอะไรก็ได้หมด ถือเป็นเวลาทองของแม่ท้องเลยทีเดียว”
- พัฒนาการลูกในครรภ์อายุ 4-6 เดือน
เบบี๋ในท้องคุณแม่โตขึ้นเร็วและฉลาดกว่าที่คิด ดิ้นเก่งและรับรู้การเคลื่อนไหว เรียนรู้การตอบโต้เวลาคุณแม่กระตุ้นได้ จอตาเริ่มไวต่อแสง หาว ดูดนิ้ว สะอึก ปอดและระบบการทำงานในร่างกายกำลังพัฒนา แต่ไม่สมบูรณ์ ในช่วงปลายเดือนที่ 6 จะมีขนาดประมาณ 30-33 เซนติเมตร และน้ำหนัก 700-800 กรัม
- เทคนิคเสริมสร้างพัฒนาการลูกรัก
ควรกระตุ้นสมองและการเรียนรู้ให้ลูกด้วยการหมั่นพูดคุยสื่อสารกับลูกพร้อมลูบสัมผัสหน้าท้อง ลูบคลำบริเวณที่ลูกดิ้น นั่งเก้าอี้โยกไปมา เล่านิทาน เปิดเพลงให้ฟังบ่อย ๆ รวมทั้งการตบหน้าท้องเบา ๆ เพื่อให้ลูกพัฒนาเซลล์ประสาทด้านความรู้สึกและเรียนรู้เคลื่อนไหวตอบสนองต่อสิ่งที่กระตุ้นได้ดี