7-14 สัปดาห์แรกของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง ?

NATUR ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาเช็กอาการสำคัญและการเปลี่ยนแปลงในช่วง 7-14 สัปดาห์แรกนั้น รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ช่วง 2-3 เดือนแรกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง พร้อมเช็กสุขภาพและอาการของคุณแม่ให้พร้อมรับเบบี๋ตัวน้อยกัน!

  • แพ้ท้องชัดเจน

อาการแพ้ท้องอาจยังมีอยู่ต่อเนื่อง ได้แก่ อาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เหม็นกลิ่นอาหาร โดยเฉพาะในช่วงเช้า (Morning Sickness) มากขึ้น วิธีดูแลตัวเองคือกินยาลดอาเจียนและวิงเวียน จิบน้ำขิงหรือน้ำหวานอุ่น ๆ ในตอนเช้า กินขนมปังกรอบแก้คลื่นไส้ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น อาหารกลิ่นแรง  อาหารมัน  หรือกลิ่นน้ำหอมบางชนิด เป็นต้น อาจกินอาหารน้อย ๆ แต่บ่อยมื้อ ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง ไม่เครียดและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายคุณแม่จะได้สดชื่นขึ้น

  • ตกขาว

เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงทำให้คุณแม่ตกขาวมาก  จึงควรสังเกตว่าตกขาวปกติหรือไม่ นั่นคือเป็นสีขาวขุ่นหรือครีม ไม่มีกลิ่น ไม่คัน แต่หากตกขาวมีสีเขียว เหลือง มีมากผิดปกติมีกลิ่น และคันควรไปปรึกษาแพทย์ การดูแลเมื่อมีอาการตกขาวคือทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดปกติ ไม่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ หรือการสวนล้างเข้าไปในช่องคลอดเพราะอาจทำให้ติดเชื้อไปถึงลูกน้อยในครรภ์ได้

  • ปัสสาวะบ่อย

คุณแม่จะปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่อาจต้องลุกมาเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง เพราะฮอร์โมน  hCG  และโพร-เจสเทอโรนทำให้มีการสะสมของของเหลวมากขึ้นทั่วร่างกาย  เพื่อเพิ่มปริมาตรเลือดที่หมุนเวียนไปยังอุ้งเชิงกราน  (มดลูก)  ทำให้ไตต้องทำงานในการขับของเหลวส่วนเกินออกมาจากร่างกายทางปัสสาวะมากขึ้น  ทำให้ปวดปัสสาวะบ่อยนั่นเอง

  • หน้าอกเริ่มขยาย

นอกจากคุณแม่จะมีอาการเจ็บคัดเต้านม ลานนมมีสีคล้ำขึ้นแล้ว ช่วงนี้เต้านมและหน้าอกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นชัดเจน เพื่อเตรียมที่จะเริ่มสร้างท่อน้ำนมสำหรับใช้ในการให้นมลูกต่อไป  ในกรณีที่หัวนมบอด สั้น หรือลานนมแข็ง  ควรแจ้งสูติแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อดูแลแก้ไขไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด

  • ท้องอืด มีแก๊ส

เนื่องจากฮอร์โมนทำให้ระบบย่อยของคุณแม่ทำงานช้าลง คุณแม่จึงมีแก๊สในท้องเพิ่มขึ้น จนอาจผายลมและเรอบ่อยขึ้น รวมถึงมดลูกที่ขยายไปเบียดอวัยวะทำให้ลำไส้และกระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ช้าจนมีอาการท้องอืด แน่นท้องง่าย

  • วิธีแก้ไขคือ

เลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย มีใยอาหารสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแก๊ส เช่น ถั่ว ของทอด หอมหัวใหญ่ ดอกกะหล่ำ น้ำโซดา กินอาหารทีละน้อย แยกเป็นมื้อย่อย ๆ และค่อย ๆ กินเคี้ยวให้ละเอียด ตลอดจนหมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น

“หากอาเจียนมากจนคุณแม่ดื่มน้ำหรือกินอาหารไม่ได้เลย ปัสสาวะเริ่มน้อยหัวใจเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อแก้ไขทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับร่างกายและเสี่ยงต่อการแท้งหรือมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เป็นอันตราย”

  • พัฒนาการลูกในครรภ์อายุ 2-3 เดือน

จากเคยเป็นตัวอ่อน ตอนนี้ลูกเริ่มโตเป็นทารกแล้ว เพราะอวัยวะต่าง ๆ  พัฒนารวดเร็ว มีรูปร่างหน้าตาที่ชัดเจนขึ้น มีมือและขาขนาดจิ๋ว เริ่มเหยียดตัว งอหลัง ยืดแขนขาได้ลูกในครรภ์จะมีขนาด 7-9 เซนติเมตร และมีน้ำหนักเพียง 25-40 กรัม

  • เทคนิคเสริมสร้างพัฒนาการลูกรัก

คุณแม่ควรเริ่มลูบท้องพูดคุยกับลูกเพื่อสร้างความคุ้นเคย กินอาหารที่มีคุณค่า เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นทั้งต่อสมองและร่างกายส่งผ่านไปให้ลูกน้อย ทั้งกรดโฟลิก วิตามินดี และกรดไขมันจำเป็น เช่น โอเมก้า ดีเอชเอ และวิตามินต่าง ๆ

แม่ท้องสุขภาพดี น้ำหนักต้องดีด้วย!

อยากรู้ไหม คุณแม่ควรน้ำหนักขึ้นเท่าไรดี ไปดูกันเลย

  • คุณแม่ที่น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขณะตั้งครรภ์ = 10-14 กิโลกรัม
  • คุณแม่ที่น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน ควรมีน้ำหนักเพิ่มขณะตั้งครรภ์= ไม่เกิน 10 กิโลกรัม
  • คุณแม่ที่น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ผอม ควรมีน้ำหนักเพิ่มขณะตั้งครรภ์= 12-18 กิโลกรัม

น้ำหนักคุณแม่ที่ควรเพิ่มในแต่ละเดือน

  • เดือนที่ 1-3 = ไม่เกิน 2 กิโลกรัม
  • เดือนที่4-8 = 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  • เดือนที่ 9 ไม่ควรเพิ่มน้ำหนัก

“ทั้งนี้หากขณะตั้งครรภ์ น้ำหนักคุณแม่เพิ่มมากเกินไป จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนทั้งเบาหวาน ความดัน โลหิตสูงจนถึงครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย”

spot_imgspot_img

Related articles

“เนเจอร์” เปิดตัวจุกนมนวัตกรรม “NATUR INFINIT” ตอบโจทย์คุณแม่ยุคใหม่

นายทวี เอกสุวรรณเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้แบรนด์ NATUR,...

1-6 สัปดาห์แรกของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง ?

NATUR ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาเช็ก 6 อาการสำคัญและการเปลี่ยนแปลงในช่วง 1-6 สัปดาห์แรกนั้น เป็นอย่างไรบ้าง?  ประจำเดือนขาด โดยปกติรอบเดือนของผู้หญิงจะมีระยะเวลา 21-35 วัน...

How to จัดกระเป๋าคุณแม่มือใหม่ให้พร้อม เตรียมรับวันคลอดของเบบี๋

ในช่วงที่ใกล้คลอด คุณแม่ควรจัดเตรียมกระเป๋าของใช้สำหรับไปโรงพยาบาลในวันคลอดให้พร้อม หากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องหรือมีนัดคุณหมอจะได้ไม่ลืมเอกสารของใช้สำคัญ โดยไม่ฉุกละหุกจนสร้างความกังวลใจให้แก่คุณแม่ MOM ต้องมี! ของใช้สำหรับคุณแม่ หน้ากากอนามัย เสื้อผ้าสำหรับกลับบ้าน (ให้นมได้) ...

15-28 สัปดาห์แรกของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง ?

NATUR ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาเช็กอาการสำคัญและการเปลี่ยนแปลงในช่วง 15-28 สัปดาห์แรกนั้น รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ช่วง 4-6 เดือนแรกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง พร้อมเช็กสุขภาพและอาการของคุณแม่ให้พร้อมรับเบบี๋ตัวน้อยกัน! น้ำหนักขึ้นหุ่นเริ่มเปลี่ยน คุณแม่จะรู้ตัวแล้วว่าน้ำหนักเริ่มขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ...

29-40 สัปดาห์แรกของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง ?

NATUR ชวนคุณแม่ตั้งครรภ์มาเช็กอาการสำคัญและการเปลี่ยนแปลงในช่วง 29-40 สัปดาห์แรกนั้น รวมถึงพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ช่วง 7-9 เดือนแรกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกันบ้าง พร้อมเช็กสุขภาพและอาการของคุณแม่ให้พร้อมรับเบบี๋ตัวน้อยกัน! ปวดหลัง เพราะหลังของคุณแม่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น...

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่