- รู้หรือไม่โกรทฮอร์โมนคืออะไร สำคัญแค่ไหนต่อเบบี๋!
โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) คือฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตที่สำคัญสำหรับเด็ก ซึ่งร่างกายลูกผลิตขึ้นเองได้ โดยหลั่งมาจากต่อมไร้ท่อที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนนี้จะช่วยกระตุ้นการเติบโต สร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทานไม่ให้ลูกน้อยเจ็บป่วยง่าย และช่วยในเรื่องของความจำและพัฒนาการด้านสมอง
- ลูกนอนหลับดีโกรทฮอร์โมนหลั่งดีตามไปด้วย
เพราะโกรทฮอร์โมนจะหลั่งในช่วงหลับสนิท จึงควรให้ลูกได้นอนพักผ่อนเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ลูกก็จะเติบโตมาแข็งแรงอารมณ์ดี เรียนรู้ ได้ดีอยู่เสมอ แนะนำให้เข้านอน และตื่นนอนให้ตรงเวลาสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อสร้างสุขลักษณะการนอนที่ดีให้ลูกน้อย
ชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักพัฒนาการรอบด้านของลูกน้อยวัยแรกเกิด – 2 ปี พร้อมเรียนรู้เทคนิคการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการลูกให้ก้าวหน้า เพื่อให้ลูกรักมีทั้งพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจที่ดี แถมด้วยการมีพัฒนาการทางสมองที่ดีไปจนโต
- พัฒนาการลูกน้อยแรกเกิด – 2 ปี
ช่วงวัย แรกเกิด 0-1 เดือน
- พัฒนาการลูกรัก: ลูกเรียนรู้จากประสาทสัมผัส ชอบมองหน้า สบตาตอบสนองเสียงคุณแม่ด้วยการทำเสียงในคอ ขยับมือกำนิ้วคุณแม่ได้
- เทคนิคส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ: หมั่นอุ้มลูก สัมผัสร่างกาย ยิ้มแย้ม สบตาพูดคุยกับลูกน้อยขณะให้นมแม่ เวลาลูกนอนเล่น ลองจับแขนขาลูกขยับขึ้น-ลง เหยียด-งอ และพูดคุยหยอกล้อกับลูก
ช่วงวัย 2-3 เดือน
- พัฒนาการลูกรัก: เริ่มเรียนรู้ที่จะยิ้มตอบส่งเสียงอืออาพร้อมทำท่าดีใจเมื่อเห็นคุณแม่มาหาทำท่าทางสนใจฟังเสียงต่าง ๆ เริ่มมองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวได้ด้วยเทคนิคส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ
- เทคนิคส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ: อุ้มลูกให้หันหน้ามองตามใบหน้าและเสียงคุณแม่ ใช้ของเล่นเขย่ามีเสียงกรุ๊งกริ๊งหรือโมบายที่มีสีสันสดใสมาชูเล่นแล้วขยับไปด้านซ้ายและขวาตรงหน้าลูก หมั่นทักทายเรียกชื่อลูก และให้ลูกได้ลองสัมผัสหยิบจับของเล่นต่าง ๆ
ช่วงวัย 4-6 เดือน
- พัฒนาการลูกรัก: ลูกรักรู้จักหันหาเสียงหัวเราะ ส่งเสียงตอบทักทายคนที่คุ้นเคย ลูกจะพยายามหยิบจับ ใช้มือไขว่คว้าจับสิ่งของ ชอบที่จะมองหรือฟังสิ่งรอบตัว บางคนอาจเริ่มใช้มือจับสลับถือของเล่นได้ และยังเริ่มพลิกคว่ำ พลิกหงายและคืบคลานได้แล้วด้วย
- เทคนิคส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ: หมั่นเรียกชื่อลูก ให้เขาส่งเสียงตอบสนองและหันตามเสียงเรียก หาของเล่นหรือวางสิ่งของให้ลูกฝึกคว้าจับ กะระยะเพื่อฝึกความสัมพันธ์เรื่องการใช้มือและสายตา เช่น หนังสือลอยน้ำ แผ่นภาพสีสันตัดกัน
ควรจัดพื้นที่ปลอดภัยและกว้างพอให้ลูกได้ฝึกนอนคว่ำ คืบคลาน หาของเล่นที่มีสีสันและรูปทรงหลากหลายมาให้ลูกได้ลองจับ เช่น ลูกบอลและตุ๊กตานุ่มนิ่ม ของเล่นลอยน้ำหรือกล่องหยอดรูปทรง
ช่วงวัย 7-9 เดือน
- พัฒนาการลูกรัก: พยายามส่งเสียงหม่ำ มะ ป๊ะ คุยสื่อสารกับพ่อแม่ ลูกหันหาเสียงเรียกได้ และ มักชูมือให้อุ้ม เริ่มคืบหรือคลานได้เก่ง รู้จักการเล่นจ๊ะเอ๋ สามารถปรบมือและมองหาของที่ซ่อนอยู่ได้ ถือ ของมือละชิ้นได้ และช่วงนี้จะมีอาการติดคุณแม่หรือคนที่เลี้ยงดู
- เทคนิคส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ: พูดคุยกับลูกถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เช่น “มาหม่ำ ๆ กัน อร่อยไหมจ๊ะ” “มาเล่นตุ๊กตากันลูก” ลองหาของเล่นที่ช่วยพัฒนาสมองให้ลูกได้เล่น เช่น บล็อกต่อชิ้นใหญ่ ลูกบอลหรือตุ๊กตาที่กลิ้งได้ ของเล่นไม้ร้อยเชือกหนังสือภาพสัตว์ ตัวอักษรรูปทรงต่าง ๆ และหมั่นชวนลูกปรบมือ ร้องเพลง เคลื่อนไหวตามจังหวะ และหัดให้ลูกใช้นิ้วหยิบจับอาหารหรือจับช้อนกินอาหารเอง
นอกจากนี้หมั่นอุ้มลูกไปพบเจอกับคนอื่น ๆ เพื่อทำความรู้จักหรือสร้างความคุ้นเคย เพื่อเรียนรู้สังคมได้มากขึ้น
ช่วงวัย 10-12 เดือน
- พัฒนาการลูกรัก: ลูกรักเริ่มที่จะเหนี่ยวตัวเกาะยืนหรือเกาะเดิน ฉลาดในการเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ ของพ่อแม่ เช่น ปรบมือ โบกมือ บ๊ายบาย ส่งจูบ โยกตัวเต้นได้ เริ่มส่งเสียงบอกหรือสื่อสารได้หลายพยางค์มากขึ้น เช่น หม่ำ ๆ มะมา บาย
ลูกรักมองหาของได้เก่งใช้นิ้วต่าง ๆ หยิบของและกะระยะได้แม่นยำขึ้น
เทคนิคส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการ สอนให้ลูกใช้ท่าทางเพื่อแสดงสิ่งที่ต้องการเช่น “หนูจะเอาอะไร ชี้ให้แม่ดูซิจ๊ะ” และหมั่นพูดคุยสอนคำศัพท์ง่าย ๆ ให้ลูกพูด เช่น พ่อ แม่ ชวนลูกดูหนังสือภาพ นิทานภาพสัตว์ ดูบัตรภาพหรือบัตรคำ เล่นเครื่องดนตรีที่ใช้เคาะหรือตีง่าย ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างให้ลูกเลียนแบบท่าทางที่ดี สอนพูดคำศัพท์ต่าง ๆ ให้ชัดเจนและถูกต้องทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ