ยินดีต้อนรับเจ้าตัวน้อยของคุณแม่กลับบ้าน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่จะต้องเรียนรู้ลูกรักและตอบสนองความต้องการของลูกตลอดเวลา ด้วยเพราะลูกต้องปรับตัวกับโลกใหม่ โดยมีคุณพ่อคุณแม่ที่ทุ่มเทกายและใจดูแลลูกน้อยตลอดเวลา ซึ่งแม้จะเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็สามารถดูแลลูกน้อยได้แบบมืออาชีพ แค่เพียงรู้จัก เข้าใจ และพร้อมจะเรียนรู้ไปกับลูกทุกด้าน ทั้งพัฒนาการ การนอน การขับถ่าย เพื่อให้สามารถดูแลกิจวัตรประจำวันให้ลูกได้อย่างมีความสุข
มาเริ่มต้นทำความรู้จักลูกรักในวัยแรกเกิดกันก่อน ดูซิว่าเบบี๋จะมีลักษณะและอาการเป็นอย่างไร เพื่อให้คุณแม่สามารถดูแลและช่วยเหลือลูกได้อย่างทันท่วงที
รู้จักเบบี๋หลังคลอด
- ลูกมีไขมันที่หนังศีรษะ
หนังศีรษะของลูกรักอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ – 3 เดือนมักจะมีไขมัน (Cradle Cap) ที่มีลักษณะคล้ายรังแค เป็นสะเก็ดสีเหลืองหรือสีน้ำตาล โดยจะค่อย ๆ หายไปเอง เมื่ออายุ 6-7 เดือน ซึ่งคุณแม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการทาเบบี้ออยล์เล็กน้อยตรงบริเวณที่มีไขมัน แล้วใช้มือค่อย ๆ ลูบออกได้ หรืออาจจะไม่ต้องทำอะไร เพราะสะเก็ดที่หนังศีรษะลูกจะหลุดไปเอง เพียงแค่คุณแม่ใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนสระผมแล้วเช็ดศีรษะลูกให้แห้งเสมอ สิ่งสำคัญคือห้ามแกะ ดึง หรือลอกสะเก็ดไขมันที่ศีรษะลูก เพราะอาจทำให้เป็นแผลติดเชื้อได้
- สายสะดือ
คือส่วนปลายของสายรกที่คุณหมอจะตัดไปเมื่อลูกคลอดออกจากท้องแม่ ซึ่งปกติมักแห้งและหลุดภายในเวลา 7-10 วันหลังเกิด (มักไม่เกิน 3 สัปดาห์) ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำเกลือเช้า-เย็น โดยเช็ดให้ถึงโคนสะดือและดูแลให้แห้งอยู่เสมอ (แนะนำให้เรียนการทำความสะอาดสะดือจากคุณพยาบาลก่อนออกจากโรงพยาบาลให้ชำนาญ) ไม่ควรไปดึง แกะ แต่หากสายสะดือหลุดแล้วมีตุ่มแดงและมีน้ำเหลืองมีกลิ่น หรือดูมีเลือดออกที่สะดือลูก แนะนำให้ไปพบคุณหมอ
- สีผิวกระดำกระด่าง
หลังคลอดในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก ผิวของลูกทารกจะยังไม่สวยงามสม่ำเสมอ จึงอาจจะยังมีรอยจ้ำผิวสีแดงหรือกระดำกระด่าง มือและเท้าจะยังมีสีเขียวหรือมีผิวหนังย่นได้บ้าง รวมถึงอาจจะมีปานสีเทาหรือสีเขียวที่เรียกว่าปานมองโกเลียน (Mongolian Spot) ซึ่งทั้งหมดนี้จะหายไปได้เอง คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องกังวล
- จุดขาวที่จมูกลูก
เด็กแรกเกิดอาจจะมีจุดสีขาวเล็ก ๆ หรือสิวเม็ดข้าวสารบริเวณจมูกหรือคางของลูก ซึ่งคุณแม่ห้ามบีบหรือพยายามแกะ เพราะเป็นอาการปกติของเด็กเบบี๋ที่จะหายไปได้เองค่ะ
“ในช่วง 2-3 วันแรก ลูกจะหลับตาเกือบตลอดเวลาแต่ในไม่ช้าเขาจะลืมตานานขึ้น”
- กระหม่อมยังไม่ปิด
หากคุณแม่สังเกตบริเวณศีรษะลูกแรกเกิด จะเห็นเป็นช่องว่างรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน โดยบางครั้งอาจจะเห็นชีพจรเต้นตุบๆ อยู่อีกด้วย นั่นคือส่วนของกระหม่อมที่ยังไม่ปิด เกิดจากกะโหลกศีรษะของลูกยังเชื่อมต่อไม่สนิทหรือปิดไม่สมบูรณ์ มักพบอยู่ 2 ตำแหน่งคือ ด้านหน้าศีรษะและสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ด้านหลังศีรษะของลูก โดยทั้งสองจุดนี้จะปิดสนิทเมื่อลูกอายุประมาณ 1 ปี – 1 ปีครึ่ง
- ตัวเหลือง
เด็กแรกเกิดสุขภาพดีมีอาการตัวเหลืองได้เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากร่างกายยังขับสารเหลืองที่ชื่อว่า “บิลิรูบิน” ได้ไม่ดี โดยอาการเหลืองจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง เด็กที่กินนมแม่เป็นหลักอาจมีภาวะเหลืองจากนมแม่ (Breast Milk Jaundice) ได้นานขึ้น แต่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อลูกแต่อย่างใด สามารถกินนมแม่ต่อได้ ยกเว้นว่าเหลืองมากผิดปกติ อาจเกิดจากภาวะ “เม็ดเลือดแดงแตก” จากกรุ๊ปเลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน การติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด ตับอักเสบหรือโรคพร่องเอนไซม์ G6PD ที่ทำให้การขับสารเหลืองไม่มีประสิทธิภาพ
- ขี้เทา
คืออุจจาระที่ลูกรักแรกคลอดขับถ่ายออกมาประมาณ 2-3 วันแรก ซึ่งเป็นอุจจาระและสารต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ในลำไส้ของลูกขณะอยู่ในครรภ์คุณแม่ ขี้เทาจะมีสีดำอมเขียวและลักษณะเหนียวข้น ถือเป็นสิ่งปกติสำหรับทารกแรกคลอด โดยหลังจากลูกรักถ่ายขี้เทาออกมาแล้ว ในอีก 3-7 วัน อุจจาระและการขับถ่ายของลูกจะเปลี่ยนสีเป็นสีส้มอมเหลืองและสีเหลืองต่อไป
“ลูกจะร้องไห้ทั้งวัน เพราะเป็นวิธีเดียวที่เขาจะสื่อสารกับคุณได้ และเป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติต่อสิ่งที่ทำให้เขาไม่สบายตัว จึงไม่ควรตกใจกับเสียงร้องของลูกมากจนเกินไป แต่ควรรีบตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกทันที”
- หากสังเกตว่าลูกตัวเหลืองมากหรือนานเกิน 1 สัปดาห์
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจระดับอาการเหลืองและหาสาเหตุต่อไป ซึ่งหากค่าเหลืองสูงถึงเกณฑ์ อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ (การตากแดดอ่อนๆ ตอนเช้าไม่ได้ช่วยลดค่าเหลืองแต่อย่างใด)